พระธรรมสิงหบุราจารย์
พระผู้สอนกฎแห่งกรรม
“สวดมนต์คือยาทา วิปัสสนาคือยากิน” นี่คือหนึ่งคำสอนที่ลูกศิษย์ลูกหาต่างคุ้นเคยกันดีของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม หรือพระธรรมสิงหบุราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี พระนักเทศน์ นักพัฒนาและวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ผู้มุ่งส่งเสริมการพัฒนาจิตใจพุทธศาสนิกชนด้วยการทำวิปัสสนากรรมฐาน ตามหลักสติปัฏฐาน 4 แบบพองหนอ-ยุบหนอ และหมั่นสวดมนต์ด้วยพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา) เพื่อเป็นเครื่องเจริญสติอย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ ท่านมักคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรม โดยยกเหตุการณ์เมื่อสมัยวัยเยาว์และการชดใช้กรรมของตนเองที่ต้องประสบมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจศิษยานุศิษย์ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อจรัญเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และให้ความสนใจชีวประวัติของท่านมากที่สุดรูปหนึ่งของประเทศ
แม้ท่านละสังขารไปแล้ว แต่ความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอน และหลักการปฏิบัติธรรมที่ท่านได้เผยแผ่ไว้ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย
ชีวิตวัยเด็กของ ด.ช. จรัญ จรรยารักษ์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)
หลวงพ่อจรัญ ชื่อเดิมคือ จรัญ จรรยารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ในวัยเด็ก เติบโตมากับยายอายุ 80 ปี เนื่องจากยายขอไปเลี้ยงอยู่เป็นเพื่อน เนื่องจากตาลาบวช บ้านที่อยู่กับยายอยู่ติดกับลำน้ำลพบุรี ทุกวันเวลา 04.00 น. คุณยายจะตื่นขึ้นมาสวดมนต์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยมีเด็กชายจรัญคอยเตรียมอาหารไว้ให้ยายใส่บาตร จากนั้นสองยายหลานจะพากันไปเก็บผัก ผลไม้ เพื่อหาบไปขายในตลาด ก่อนที่เด็กชายจรัญจะไปโรงเรียน
แต่ทว่าเวลานั้น เด็กชายจรัญต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ เนื่องจากไม่ตั้งใจเรียน มีนิสัยเกเร เรียกได้ว่าสมัยเด็กของหลวงพ่อจรัญได้สร้างกรรมไว้มากมาย โดยไม่สนใจเรื่องบาปบุญคุณโทษซึ่งมีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยท่านได้ยกมาสอนในหนังสือกฎแห่งกรรม ยกตัวอย่างเช่น
ในช่วงปิดเทอม ตอนนั้นยังไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ได้นำปืนไปตามทุ่งนาแล้วยิงนกเป็ดน้ำ นกกระสา พอยิงได้ก็จะจับหักคอใส่ตะข้อง แต่พอถูกนกจิกใส่ก็โกรธจึงจับหักคอแล้วถลกหนังเลย บ้างก็จับหักขา โกงไม่ให้ค่าเรือข้ามฟากบ้าง โกงเงินแม่ค้าไม่ให้ค่าก๋วยเตี๋ยวบ้าง
นอกจากนี้ เด็กชายจรัญยังรับค่าจ้างจากวงเหล้าให้นำเต่าไปต้มจำนวน 7 ตัว แต่เต่าพากันดิ้นด้วยความทุรนทุรายจนหม้อแตก และพยายามหนีเข้ากอไผ่ เด็กชายจรัญเห็นดังนั้นจึงวิ่งไปจับตัวมาต้มอีกครั้ง แต่เกิดเปลี่ยนใจเพราะเห็นเต่าร้องไห้ จนสุดท้ายต้องขโมยปลาตากแห้งของป้ามาให้วงเหล้าแทน
นอกจากนี้ ท่านกับเพื่อนเคยแอบกินอาหารของยายที่จะนำไปถวายพระ 2 ครั้ง จนสุดท้ายยายจับได้จึงถูกตีอย่างหนัก ซึ่งยายสอนว่า อย่าทำแบบนี้ไม่เช่นนั้นจะเกิดเป็นเปรต ปากเท่ารูเข็ม
จนกระทั่งช่วงมัธยม เด็กชายจรัญถูกโรงเรียนไล่ออก และไม่มีโรงเรียนใดใน จ.สิงห์บุรี รับเข้าเรียน ทั้งที่ยายสอนแต่สิ่งดีๆ ทำให้ยายต้องส่งเด็กชายจรัญไปอยู่กับปู่ซึ่งเป็นคุณหลวงในกรุงเทพฯ และได้ไปเป็นศิษย์ดนตรีไทยของคุณหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ก่อนส่งตัวต่อไปฝากฝังกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จนได้รับการสนับสนุนให้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เมื่อเจอรุ่นพี่วางอำนาจใส่นายจรัญก็ทนไม่ได้ จนมีเรื่องกับรุ่นพี่ จึงต้องลาออกจากโรงเรียน และกลับไปตั้งวงดนตรีไทยที่บ้าน
ก้าวสู่ร่มกาสาวพัตร์
เมื่ออายุครบอายุบวช ยายได้ขอร้องให้นายจรัญอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2491 ที่วัดพรหมบุรี ได้รับฉายาว่า “ฐิตธมฺโม” ขณะนั้นนายจรัญเกลียดพระสงฆ์เข้าไส้ เพราะเคยเจอพระทุศีล ใช้ผ้าเหลืองหากิน เมื่อครบกำหนดสึก ท่านก็เตรียมตัวสึก แต่ก็มีเหตุให้ต้องเลื่อนสึกถึง 3 ครั้ง จนสมภารวัดบอกว่าไม่สึกให้แล้ว หากคิดจะสึกก็ให้ไปวัดอื่น สุดท้ายภิกษุฐิตธมฺโมก็ไม่ได้สึกตามที่ตั้งใจไว้ แต่ได้ไปเล่าเรียนกับพระอาจารย์เก่งๆ ผู้เป็นพระแท้มากมายทั้งในย่านจังหวัดสิงห์บุรี และในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหลวงพ่อสด และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
หลังจากร่ำเรียนทั้งปริยัติและกรรมฐานจนมีวิชาความรู้มาก พอทางคณะสงฆ์ก็ได้ส่งให้ หลวงพ่อจรัญ กลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดโบราณ ทรุดโทรม มีเพียงพระบวชจำพรรษาเพียง 2 รูป
หลวงพ่อได้กลับมาพัฒนาวัดในแถบถิ่นบ้านเกิด สอนหลักธรรมคำสอน และกรรมฐาน จนวัดได้รับการพัฒนา และมีญาติโยมให้ความเคารพศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ
“เหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่ไม่มีอะไรเหนือกฎแห่งกรรม”
จากการนั่งสมาธิ เมื่อ พ.ศ. 2499 หลวงพ่อจรัญเริ่มรู้ชดใช้กรรมที่เคยทำไว้ตามลำดับ จากนั้นท่านจึงนั่งเจริญภาวนาและอโหสิกรรม แผ่เมตตาเป็นประจำ
วันหนึ่งได้มีสติบอกไว้ล่วงหน้าว่าต้องชดใช้หนี้กรรมจากการต้มเต่า ซึ่งเป็นกรรมที่ท่านได้ลืมไปหมดแล้ว แต่มีสติได้บอกว่า ให้ระวังพรุ่งนี้ อย่าพาใครขึ้นรถไปด้วย เพราะจะทำให้ตายกันหมดเพราะรถคว่ำ วันรุ่งขึ้นท่านได้ขับรถปิกอัพออกไปรับกิจมนต์ โดยไม่ได้นำใครไปด้วย ประกอบกับช่วงเวลานั้นฝนตก พอมาถึงอ่างทองฝนก็หยุด แต่ถนนมันลื่น จนมาถึงตรงโค้งวัดคู รถที่ขับมาด้วยความเร็วก็หมุน เสียหลักคว่ำ 8 รอบ รถพังยับเยิน ต้องพักรักษาตัว ทนปวดแสบปวดร้อนอยู่นานเป็นเดือน ถือเป็นการใช้หนี้เต่า...แต่ยังไม่หมดเสียทีเดียว
จากนั้นหลวงพ่อจรัญก็เกิดนิมิตล่วงหน้าว่า อีก 6 เดือนข้างหน้า ในวันที่ 14 ตุลาคม ตนเองต้องคอหักตายอยู่หน้าโรงพยาบาลสิงห์บุรี จึงได้เตรียมการล่วงหน้า ทั้งการบริจาคเงิน จัดแจงหน้าที่ภายในวัด เมื่อถึงวันจริงหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเจ้าคณะหลวง พ่อจรัญก็ได้เดินทางกลับ เมื่อรถออกจากวัดเลี้ยวขวาเข้าจังหวัดลพบุรี บริเวณหลังตลาดปากบาง รถที่หลวงพ่อจรัญนั่งมาเกิดอุบัติเหตุ ไหล่ท่านชนกับเหล็กจนหัก ถูกกระจกครูดเอาหนังหัวไปอยู่ตรงท้ายทอย คอหมุนพับไปที่หน้าอก เลือดเต็มจมูก น้ำจากฝาหม้อน้ำหลุดออกมาลวกแสบร้อนไปทั้งตัว แต่ยังมีสติดีและรู้ว่าหายใจทางท้องตรงสะดือได้ ท่านกำหนดจิตยุบหนอ-พองหนอ ตลอดทางที่ถูกส่งนำตัวโรงพยาบาล ท่านรู้สึกเหมือนได้ยินและเห็นเต่ามาซ้ำเติม เมื่อถึงโรงพยาบาลหลวงพ่อจรัญก็ได้อธิษฐานว่าขอให้ข้าพเจ้าไปสบาย รู้แล้วเข้าใจแล้ว ขออโหสิกรรมทุกอย่างกับโลกมนุษย์ เป็นจังหวะเดียวกันกับที่บุรุษพยาบาลเข็นรถตกร่องประตูเหล็กทำให้กระดูกที่คอเข้าที่ แต่ก็ต้องมาชดใช้หนี้กรรมที่กินข้าวถวายพระเพราะต้องใส่เฝือกจนอ้าปากไม่ขึ้น กินอะไรไม่ได้ต้องใช้หลอดกาแฟหยอดอาหารแทน
หลังจากรอดตายครานั้น หลวงพ่อจรัญได้อุทิศตนเพื่อการสืบทอดพระศาสนา และสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างแข็งขันยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้ลูกศิษย์ลูกหาศรัทธาต่อคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรม และปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านอย่างจริงจังมากขึ้น
เหตุการณ์ชดใช้หนี้กรรมครั้งใหญ่ของหลวงพ่อ ทำให้การกำหนดยุบหนอ-พองหนอ และแผ่เมตตาแก่เจ้ากรรมนายเวรตามวิถีกรรมฐานของหลวงพ่อจรัญก็มีผู้ศรัทธาเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
หากใครคิดจะมาขอพร ขอวิธีแก้กรรม จะกรรมหนัก-กรรมเบา วิธีแก้กรรมที่ท่านจะมอบคือการสวดมนต์ตามแนวทางของท่าน คือ การบูชาพระรัตนตรัย แล้วตั้งนะโม 3 จบ จากนั้นสวดไตรสรณคมน์ สวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วตามด้วยบทพาหุงมหากา จบด้วยการสวดอิติปิโส (พุทธคุณ) เท่าอายุ+1 จบ อันเป็นกุโศลบายให้จิตสงบ เกิดสมาธิ บังเกิดปัญญา
ลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธาต่อคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรม และปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านอย่างจริงจัง ต่างก็ได้พบรสพระธรรมอย่างแท้จริงว่า แก้กรรมอย่างงมงายนั้นไม่มีอยู่จริง หากแต่กรรมฐานและการสวดมนต์ตะหากที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีสติ จิตนิ่ง และเป็นกุศล ยังผลให้ผู้ปฏิบัติดำรงชีวิตในแนวทาง “กรรมเก่าอย่าไปซ้ำ กรรมใหม่อย่าทำเพิ่ม”
แม้หลวงพ่อจรัญละได้สังขารไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 8.37 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยอาการปอดอักเสบ หากแต่คำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมของท่านยังได้รับการปฏิบัติสืบต่อไปสมตามตั้งจิตมั่นที่ตั้งไว้ว่า
“จะขอใช้หนี้โลกมนุษย์ด้วยการสืบทอดพระพุทธศาสนา เผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า”
และท่านกล่าวสอนลูกศิษย์เสมอว่า
“ไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปทำบุญเลย วันนี้ท่องบทสวดมนต์ไหว้พระได้ นั่นแหละท่านจะตื้นตัน ท่านจะปิติ ท่านจะยินดี นั่นแหละบุญ”