หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

นักบุญแห่งด่านขุนทด

  หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม พระมหาเถระแห่งแดนอีสาน อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พระสงฆ์ที่ชาวไทยเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดรูปหนึ่งในปัจจุบัน เอกลักษณ์ของหลวงพ่อคูณที่โดดเด่นคือ “การนั่งยอง พูดกูมึง” ดำรงตนแบบสันโดษ จนกลายเป็นภาพที่เห็นกันชินตา

ปัจฉิมบท

  นามเดิมของท่านคือ คูณ ฉัตร์พลกรัง เป็นชาวบ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด ครอบครัวของท่านเป็นชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดามารดาของหลวงพ่อคูณ เสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้องๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว

  เมื่ออายุได้ 6-7 ขวบท่านได้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทย และภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ นอกจากนี้ พระอาจารย์ที่วัดยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชาคาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณอีกด้วย

เมื่ออายุได้ 21 ปี ท่านจึงได้อุปสมบท โดยมีพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ ได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ  และได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์

ท่องโลกธรรม

  หลังจากได้ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงก็ได้พาไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งเป็นพระอาจารย์ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรม และทางไสยเวทย์ ได้ให้การอบรมสั่งสอนแก่หลวงพ่อคูณทั้งการศึกษาและพระธรรม ควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เน้นเรื่องการมี “สติ” ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ และให้เกิดความรู้เท่าทัน

  เมื่อหลวงพ่อคงเห็นว่าลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป ระยะแรกหลวงพ่อคูณธุดงค์จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกไกลออกไป กระทั่งถึงประเทศลาว และกัมพูชา มุ่งเข้าสู่ป่าลึกเพื่อทำความเพียร ให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา และอุปาทานทั้งปวง

กลับสู่มาตุภูมิ

  หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณเดินทางกลับสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตแดนทางจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับสู่ถิ่นเกิดที่บ้านไร่ สั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้อยู่ในศีลในธรรม ขณะเดียวกันก็เริ่มดำริให้ก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อปี พ.ศ. 2496

  นอกจากนั้น หลวงพ่อคูณยังดำริให้สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค รวมทั้งการสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ เพื่อการศึกษาของเยาวชนละแวกนี้อีกด้วย

ปราชญ์แห่งที่ราบสูง

  หลวงพ่อคูณถือว่าเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ การใช้ภาษาพูดสมัยโบราณ โดยมีคำว่ามึงและกูเป็นคำติดปาก และมักจะชอบนั่งยองๆ หลวงพ่อคูณให้เหตุผลว่า เป็นท่าที่สบายที่สุด อีกทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวกในการทำงาน นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระนักเทศน์ สอนประชาชนด้วยคำง่ายๆ แต่ได้เนื้อหาธรรมะอันลึกซึ้ง ด้วยจริยวัตรที่เรียบง่าย และเป็นกันเอง ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของลูกศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ

  ขณะเดียวกันท่านก็ได้สร้างวัตถุมงคลมากมาย ซึ่งล้วนมีพุทธคุณด้านเมตตา มหานิยม และแคล้วคลาด จนวัตถุมงคลของท่านกลายเป็นที่นิยมของเซียนพระและนักสะสมทั่วประเทศ

  หลวงพ่อคูณจะสั่งลูกศิษย์ลูกหาเสมอว่า เมื่อมีพระเครื่องของหลวงพ่อคูณติดตัว ให้ภาวนา “พุทโธ” ให้ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ละเว้นถ้อยคำด่าทอ อย่าผิดสามีหรือภรรยาผู้อื่น ให้สวดมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

  ท่านย้ำเสมอว่า ถ้ามีใจอยู่กับ พุทโธ ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง...ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก 

  บุคคลทั่วไป หากมิได้สัมผัสตัวตนที่แท้จริงของหลวงพ่อคูณแล้ว มักจะมองท่านว่าเป็นพระที่แกร่งกล้าอาคม แต่ลูกศิษย์ลูกหาที่ได้พบและสนทนาธรรมกับท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านคือ “ปราชญ์แห่งที่ราบสูง” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ทีท่าตรงไปตรงมา พูดจามึงกู แต่ภายในจิตวิญญาณของหลวงพ่อคูณ ท่านเป็นพระที่เป็นพระแท้ คือมีจิตเมตตาเป็นที่ตั้ง แม้ในยามที่วัดบ้านไร่มีปัญหาหรือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างลูกศิษย์ หลวงพ่อคูณท่านได้ตัดสินใจเดินจากวัดบ้านไร่ไปอย่างเงียบ ๆ พร้อมทั้งปรัญชาที่ว่า

      “เป็นธรรมดา เปรียบเสมือนต้นไม้ หากมีลูกไม้ ย่อมจะเป็นที่จิกกินของสัตว์หรือนก แม้กระทั่งคน หากแม้นเมื่อหมดลูก หมดผล ก็หมดการแก่งแย่ง แต่อีกไม่นานต้นไม้นั้นก็จะออกลูกออกผลมาให้เป็นเช่นนี้เรื่อยไป”

  ไม่เคยมีใครพบเห็นหลวงพ่อคูณกราดเกรี้ยวหรือทุกขเวทนากับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นภายในวัด อันเนื่องจากรายได้ที่มากมายที่ประชาชนศรัทธาในบารมีของท่าน สิ่งที่หลวงพ่อคูณแสดงออกมาทุกครั้งในการ

  ให้สัมภาษณ์หรือสนทนาธรรม ได้แสดงให้เห็นว่า ท่านนั้นมีจิตที่แจ่มใส หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส เป็นที่พึ่งทางธรรมได้อย่างแท้จริง

      “คนเรา เมื่อมีเมตตาให้กับผู้อื่น ผู้อื่นเขาก็จะให้ความเมตตาตอบสนองต่อเรา ถ้าเราโกรธเขา เขาก็จะโกรธเราตอบเช่นกัน ความเมตตานี่แหละ คืออาวุธ ที่จะปกป้องตัวเราเอง ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง เป็นอาวุธที่ใครๆ จะนำเอาไปใช้ก็ได้ จัดว่าเป็นของดีนักแล  นี่คือหลักธรรมคำสอนที่ท่านมักมอบให้ลูกศิษย์เสมอๆ

  นอกจากนี้ ท่านมักจะให้คาถากับลูกศิษย์ใช้บริกรรมเวลานั่งสมาธิว่า “เวลาหายใจเข้า ให้บริกรรมว่า ตาย เวลาหายใจออกให้บริกรรมว่า แน่ เป็น ตายแน่...ตายแน่...ตายแน่ ไปเรื่อยๆ จะได้มีจิตที่ไม่ประมาทอยู่เสมอ” 

เมตตาธรรม บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

  หลวงพ่อคูณเป็นพระผู้มีอาจารวัตรสันโดษ มักน้อย มีเมตตาธรรมสูงส่ง ปราศจากมัจฉริยะ คือปราศจากความตระหนี่ถี่เหนี่ยว ชอบที่จะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก

  ด้วยท่านมีลูกศิษย์จำนวนมาก จึงมีผู้นำเงินมาบริจาคให้ท่านเป็นจำนวนมาก ท่านก็ได้นำไปสร้างสาธารณะประโยชน์มากมายทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมา อาทิ โรงพยาบาล, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, ถนน และมอบทุนการศึกษาให้ลูกหลานชาวโคราชอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมอบเงินสร้างวัด โรงเรียน และมหาวิทยาลัย หลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ แต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายแสนบาท และได้ทูลเกล้าถวายเงินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กว่า 100 ล้านบาท เพื่อใช้ตามพระราชอัธยาศัยอีกด้วย

      “หลวงพ่อเป็นคนยากจนมาโดยกำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น การนำเงินออกไปช่วยคนอื่น ก็จะมีคนบริจาคเรื่อยๆ ถ้าเก็บไว้จะทำให้ตนตาบอด ใจก็บอดอีกด้วย จึงอยากช่วยคนอื่นอยู่เรื่อยไป วันใดไม่มีคนมาขอเงิน ก็ไม่ค่อยสบายใจ”  นี่คือสิ่งที่ท่านเคยกล่าวไว้

  วันที่ 16 พ.ค. 2558 เวลา 11.45 น. หลวงพ่อคูณได้ละสังขารจากโลกนี้ไป เนื่องจากโรคหัวใจ แม้ลมหายใจจะละจากขันธ์ไปแล้ว แต่ท่านก็ยังต้องการยังประโยชน์ให้กับสาธารณชนอย่างถึงที่สุด

  ท่านได้ทำพินัยกรรมระบุชัดว่า เมื่อท่านมรณภาพ ขอบริจาคสังขารเป็น “อาจารย์ใหญ่” ให้แก่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้นำไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาควิชา โดยขอให้คณะแพทยศาสตร์ฯ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการสวดพระอภิธรรมที่คณะเป็นเวลา 7 วัน และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลอย่างเรียบง่ายร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่นๆ ในปีนั้น ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ ห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศและพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษหรือเป็นการเฉพาะ แล้วให้นำร่างท่านไปเผาที่ฌาปนสถานวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (หรือวัดแห่งอื่นตามเห็นสมควร) และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ขอให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำอัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมดไปลอยที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันประชุมและลงมติให้ดำเนินการตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าวทุกประการ โดยไม่มีการนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านไร่ดังที่มีลูกศิษย์จำนวนหนึ่งร้องขอแต่อย่างใด

  ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พวงมาลา 12 พวง โดยมอบหมายให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมทั้งพระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเป็นกรณีพิเศษ

  ไม่น่าแปลกใจที่ชาวด่านขุนทด และลูกศิษย์ลูกหาพากันขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด”

 

หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!