หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
นักรบธรรม ผู้เปี่ยมเมตตาต่อสรรพสัตว์
หากเอ่ยถึง หลวงตามหาบัว หรือ พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) หลายคนคงนึกถึงท่านในฐานะพระวัดป่า ผู้เป็นอรหันต์ยุคใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้างอาจนึกถึงกองผ้าป่ากู้ชาติ กองทองเหลืองอร่าม และเงินดอลล่าร์จำนวนมากที่มอบแก่คลังหลวง เพื่อช่วยให้ประเทศไทยรอดผลจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำยุคต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ. 2540
สิ่งที่ท่านมักเทศน์ย้ำเตือนเสมอ คือ ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงของชาติเราในครั้งนั้น ก็เนื่องจากมนุษย์เราขาดธรรมะนั่นเอง หลวงตากล่าวว่า ที่ท่านออกมาช่วยชาติในครั้งนี้ สิ่งท่านต้องการฟื้นฟูเป็นอันดับที่หนึ่งก็คือ จิตใจ แล้ววัตถุก็จะฟื้นฟูติดตามกันมา
เดิมทีหลวงตามหาบัวไม่เคยคิดจะบวช แต่ยอมบวชเพื่อพ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองตามคติความเชื่อโบราณ ด้วยความเป็นคนจิตใจหนักแน่น ลองได้ทำอะไรแล้ว ก็จริงจัง ไม่เคยเหลาะแหละ ท่านได้ตั้งจิตอธิฐานไว้ว่า
“เมื่อจบเปรียญธรรม 3 ประโยคแล้ว จะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข เพราะอยากพ้นทุกข์เหลือกำลัง อยากเป็นพระอรหันต์”
ภูมิหลัง
หลวงตามหาบัว ถือกำเนิดในครอบครัวชาวนาแห่งสกุล “โลหิตดี” ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2456
ขณะที่แม่ตั้งครรภ์นั้น ได้ปรารภขึ้นในครอบครัวและหมู่ญาติว่า “ธรรมดาทารกในครรภ์ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา ต้องดิ้นบ้าง ไม่มากก็น้อยพอให้แม่รู้สึก แต่กับลูกคนนี้แปลกกว่าคนอื่น ตรงที่นอนนิ่งเงียบเหมือนไม่มีลมหายใจ จนบ่อยครั้งทำให้แม่คิดตกอกตกใจว่า “ไม่ใช่ตายไปแล้วหรือ? ทำไมจึงเงียบผิดปกตินัก”
ครั้นเวลาจะดิ้น ก็ดิ้นผิดทารกทั่วๆ ไป คือดิ้นเสียจนแม่เจ็บในท้อง ครั้นพอถึงระยะจะคลอดก็เจ็บท้องอยู่ถึง 3 วัน ก็ไม่เห็นว่าจะคลอดแต่อย่างใด ตอนเจ็บท้องอยู่นั้น ก็ชนิดจะเอาให้ล้มตายไปเลย เสร็จแล้วก็หายเงียบไป จนกระทั่งคิดว่า ไม่ใช่ตายไปอีกแล้วหรือ? แล้วก็กลับดิ้นขึ้นมาอีก...”
คุณตาของท่านทายถึงอุปนิสัยของทารกในครรภ์ว่า “ถ้าหากเป็นชาย ชอบไปทางไหน เรียกว่า ขาดเลยทีเดียว เป็นคนจิตใจหนักแน่น ลงได้ทำอะไรแล้ว ต้องจริงทุกอย่าง ไม่มีเหลาะๆแหละๆ”
เมื่อทารกน้อยคลอดออกมา มีสายรกพาดเฉวียงบ่าออกมาด้วย คุณตาเห็นดังนั้น จึงพูดขึ้นว่า “สายบาตรๆ” แล้วทำนายไว้เป็น 3 อย่าง คือ ถ้าเป็นนักปราชญ์จะเหยียบแผ่นดินสะเทือน ถ้าเป็นนายพรานก็จะมีความชำนาญลือลั่นสะท้านป่า ถ้าเป็นโจรก็เป็นประเภทคุกตารางแตก
เมื่อเรียนหนังสือ ท่านเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง มีความขยัน อดทน และมีความรับผิดชอบสูง แต่เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับสูงสุดในสมัยนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เรียนต่อในชั้นใดอีกเลย
อุปนิสัย
ท่านเป็นคนที่มีอุปนิสัยถือความสัตย์ความจริง ทำอะไรก็ทำจริง ไม่อยากให้คนรู้คนเห็น มีความทรหดอดทนเป็นเลิศ เวลาทำงานจะทำไปเรื่อยๆ จนเสร็จงาน ถ้าไม่มืด หรือไม่ใช่เวลากินข้าวกลางวันก็ไม่ยอมเลิก จนพวกน้องๆ พากันมาบ่นให้พ่อแม่ฟังว่า“ถ้าพ่อแม่ไม่ไปทำงานด้วย พี่ชายทำงานไม่ยอมเลิกยอมหยุด ยังกับว่าจะเอาให้น้องๆ ตายไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว” แม้ในยามบวชเป็นพระแล้ว เวลาทำความเพียร ท่านไม่ยอมให้ใครเห็นได้ง่ายๆ มักหลบไปเดินจงกรมอยู่ในป่ายามค่ำคืน รอจนหมู่พระขึ้นกุฏิหมดแล้ว
มูลเหตุแห่งการบวช
เมื่ออายุครบสมควรจะบวชได้แล้ว พ่อได้ปรารภเรื่องนี้ขึ้นในขณะที่กำลังรับประทานอาหารว่า มีลูกชายหลายคน แต่ไม่มีลูกคนใดคิดบวชให้ได้เห็นผ้าเหลืองก่อนตาย ได้ตายอย่างเป็นสุข หายห่วง แต่พอพ่อขอให้บวชให้ทีไร ท่านก็ไม่เคยตอบ ไม่เคยพูดเลย เหมือนไม่มีหูไม่มีปาก แต่ครั้งนั้น เมื่อพ่อได้กล่าวว่า ถ้าพ่ออาศัยท่านไม่ได้แล้ว พ่อก็หมดหวัง พ่อหวังใจอาศัยท่านเท่านั้น
“พอพ่อว่าอย่างนั้น น้ำตาพ่อร่วงปุบปับ แม่เอง พอมองไปเห็นพ่อน้ำตาร่วง แม่ก็เลยน้ำตาร่วงเข้าอีกคน เราเห็นอย่างนั้น เกิดอาการสะเทือนใจทนดูอยู่ไม่ได้ ก็โดดออกจากวงรับประทานอาหาร ปุบปับหนีไปเลย นั่นแหละ เป็นต้นเหตุให้เราตัดสินใจบวช”
ว่ามรรคผลนิพพาน จะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่?
ท่านเก็บความสงสัยนี้อยู่ภายในใจ ออกเดินทางมุ่งสู่จังหวัดนครราชสีมา โดยพกหนังสือปาฏิโมกข์ติดย่ามไปด้วยเพียงเล่มเดียว หมายพบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยเชื่อมั่นอยู่ภายในใจลึกๆ ว่า ท่านพระอาจารย์มั่น จะสามารถแก้ข้อสงสัยนี้ได้ และในที่สุดท่านก็ได้ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น
หลังจากนั้น หลวงตามหาบัวก็มุ่งปฏิบัติด้วยความเด็ดเดี่ยว จริงจัง เป็นตายฝากไว้กับธรรม ด้วยศรัทธามั่นแล้วว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่จริง มุ่งมั่นจะครองชัยชนะในการต่อสู้กับกิเลสให้ได้ ท่านพูดเสมอว่า
“ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตายเท่านั้น จะให้อยู่เป็นสอง ระหว่างกิเลสกับเรานั้น ไม่ได้”
เมื่อหลวงตามหาบัว กระทำการอัตตัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ตน ปฏิบัติจนบรรลุคุณธรรมขั้นสูงสุด จึงกระทำญาตัตถจริยา สงเคราะห์ญาติมิตร เทศนาอบรมพระ-เณร และโปรดโยมมารดา จนตั้งอยู่ในอริยภูมิ
นอกจากนั้น ท่านยังกระทำโลกัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อโลก ด้วยเมตตาธรรมอันเปี่ยมล้น ดังเช่น การช่วยเหลือโรงพยาบาล หน่วยงานราชการ โรงเรียนต่างๆ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบทุกข์ภัย การทำนุบำรุงพุทธศาสนา การจัดตั้งเครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน รวมทั้งการตั้งกองผ้าป่าช่วยชาติในยามที่บ้านเมืองประสบวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
หลวงตามหาบัวหล่อหลอมหัวใจคนไทยให้เป็นหนึ่งเดียว...คนไทยทุกย่อมหญ้าร่วมกันบริจาค จนได้ทองแท่งทั้งสิ้น 1,040 แท่ง หนักรวม 13 ตัน เงินดอลลาร์อีก 10,214,600 ดอลลาร์สหรัฐ มอบให้คลังหลวง เพื่อช่วยจ่ายหนี้ก้อนโตของประเทศไทยในยามนั้น
แม้ยามละสังขารไปแล้ว หลวงตายังเมตตาต่อสัตว์โลก สั่งไว้ให้เผาแบบเชิงตะกอนแบบสมถะ เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้เรียนรู้พิจารณาความจริงธรรมชาติของชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่ง จิตกาธานหรือเชิงตะกอนอันเป็นที่ตั้งสรีระสังขารขององค์หลวงตากลายเป็นภาพความงามที่ประทับอยู่ในความทรงจำของปวงศิษย์ทุกคน ตรึงทุกสายตาให้หยุดนิ่ง เมื่อยามได้ประสบพบเห็น ด้วยความเรียบง่าย แต่สง่างามและภูมิฐานอยู่ในที
“เวลามีชีวิตอยู่นี้ เราจะทำความดีให้โลกทั้งหลายได้เป็นคติตัวอย่างอันดีงาม และทำด้วยความเมตตาสงสารต่อโลก เพราะหลังจากนี้แล้ว...เราตายแล้ว เราจะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป เป็นตลอดอนันตกาล”
นี่เป็นสัจจะวาจา ของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโนที่ประกาศอย่างองอาจกล้าหาญ...นักรบธรรม ผู้เป็นตายฝากไว้กับธรรม สิ้นกังขาใน มรรคผลนิพพาน
แม้จะไม่มีใครทราบได้ว่าท่านจะกลับมาเกิดในโลกนี้อีกหรือไม่ แต่ความเมตตาและคุณูปการที่ท่านได้สร้างไว้ต่อประเทศไทยและพุทธศาสนาจะต้องได้รับการกล่าวขานไปตราบนานเท่านาน
อ้างอิงจาก
เว็ปไซต์วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
หนังสือญาณสัมปันนธรรมานุสรณ์
www.luangta.co