ท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านพุทธทาสภิกขุ

ปราชญ์แห่งไชยา

  พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) หรือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่คนทั่วไปเรียกกันติดปาก ...ท่านเป็นพระนักคิด ผู้มาก่อนกาล เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพทั่วโลก ด้วยได้อุทิศตนเพื่อการเผยแผ่แก่นพระธรรมที่มีความร่วมสมัย และประยุกต์ใช้ได้กับระดับสังคมและปัจเจกบุคคล รวมถึงบุกเบิก ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อสันติภาพ ความเป็นธรรมของสังคมและบุคคล ท่านเป็นพระฝ่ายเถรวาทที่ทำการศึกษาคำสอนของต่างศาสนาและต่างนิกายด้วยหัวใจเปิดกว้าง ด้วยความคิดว่าศาสนาทั้งหลายล้วนมุ่งหมายในสิ่งเดียวกัน

  ท่านพุทธทาสได้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นมรดกทางธรรมไว้จำนวนมาก ได้รับแปลและตีพิมพ์ในหลายภาษา มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการฟื้นฟูวิธีคิดแนวพุทธขึ้นใหม่ ความคิดที่ท่านได้แสดงไว้ มิเพียงแต่จะสามารถชี้ทางให้กับประเทศไทยได้เท่านั้น หากยังรวมถึงสังคมทั้งปวง ที่กำลังพยายามสรรค์สร้างระเบียบทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ อันเที่ยงธรรมและเป็นธรรมอีกด้วย

ปฐมวัยแห่งพุทธทาสภิกขุ

  ท่านพุทธทาส เดิมชื่อเงื่อม พานิช โยมบิดาชื่อนายเซี้ยง โยมมารดาชื่อนางเคลื่อน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ณ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โยมมารดาเป็นคนไทย ส่วนบิดา มีเชื้อสายจีน สกุลเดิมทางบรรพบุรุษคือ แซ่โข่ว หรือ ข่อ ออกเสียงแต้จิ๋วเป็น แซ่โค้ว ต่อมาในรัชกาลที่ 6 มีพระราชบัญญัตินามสกุล ทางการจึงเปลี่ยนให้เป็น "พานิช" เพราะประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ เฉกเช่นที่ชาวจีนนิยมทำกันทั่วไป

  แต่อย่างไรก็ตาม อิทธิพลที่ท่านได้รับจากบิดากลับเป็นความสามารถทางด้านกวี และช่างไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดา ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดา คือความสนใจในการศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง อุปนิสัยที่เน้นเรื่องความประหยัด ละเอียดลออในการใช้จ่าย และการทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด และต้องทำให้ดีกว่าครูเสมอ

บิดามารดาได้พาท่านพุทธทาสภิกขุไปฝากตัวเป็น เด็กวัด ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ตามแบบแผนในสมัยโบราณที่พ่อแม่มักจะให้ลูกชายได้อยู่ที่วัด เพื่อที่จะให้ได้รับการศึกษาขั้นต้น รวมทั้งจะได้มีการคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา และได้ฝึกหัดการอาชีพต่างๆ

เด็กชายเงื่อมจึงได้เริ่มเรียนหนังสือ ก ข ก กา กระทั่ง มูลบทบรรพกิจกันที่วัดพุมเรียง หรือวัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่คนในสกุลพานิชเคยบวชสืบต่อกันมา จนถึงอายุ 11 ปี เมื่อได้เวลาไปโรงเรียนแล้วถึงกลับมาอยู่บ้าน และได้เรียนหนังสือถึงเพียงแค่ชั้น ม.3 ก็ต้องออกมาค้าขายแทนบิดาซึ่งเสียชีวิตลง

ซาบซึ้งรสแห่งพระธรรม
ครั้นอายุครบ 20 ปี ก็ได้บวชเป็นพระตามคตินิยมของชายไทย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง ได้รับฉายา ว่า “อินทปัญโญ” แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง 3 เดือน แต่เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมแล้ว ก็บังเกิดความซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา รู้สึกเป็นสุข และสนุกในการศึกษาและเทศน์แสดงธรรม จึงล้มเลิกความตั้งใจที่คิดจะลาสิกขาตามกำหนดเดิมเสียสิ้น และ นี่คือเหตุแห่งการบวชตลอดชีวิตของท่าน

หลังจากบวชได้เพียง 10 วัน ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นแสดงธรรม แต่แทนที่จะเทศน์โดยอ่านจากคัมภีร์ใบลานอย่างเดียวตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิมๆ ท่านได้ปฏิวัติแนวทางเทศนาใหม่ โดยการนำเนื้อหาจากหลักสูตรนักธรรมไปประกอบขยายความ ทำให้การเทศน์เป็นไปด้วยความสนุก และเข้าใจง่าย ผู้ที่ได้ฟังจึงติดใจและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนั้นพระในวัดที่พอจะเทศน์ได้ ล้วนแต่อิดเอื้อนไม่อยากเทศน์ จึงเป็นเป็นโอกาสให้ท่านพุทธทาสภิกขุได้ขึ้นเทศน์ทุกวันในพรรษาเทศน์ และเทศน์ทุกวันพระในช่วงนอกพรรษา ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุก็รักในกิจนี้เป็นอันมาก

นอกจากการเทศน์แล้ว ในช่วงพรรษาแรก ท่านยังได้เรียนนักธรรม ท่านชอบนั่งอยู่กับที่นิ่งๆ เป็นเวลานานๆ และเพลิดเพลินอยู่กับการอ่านและเขียนหนังสือ รวมทั้งการคัดลอก และซ้อมแต่งกระทู้ จนทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสอบได้นักธรรมตรีในพรรษาแรกที่บวช

นอกจากนี้ พุทธทาสภิกขุยังได้เขียนหนังสือพิมพ์เถื่อนลงในกระดาษฟุลสแก๊ป ยังความขบขันให้ผู้อื่นได้หัวเราะกันภายในวัด เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเขียนเล่าไว้ในหนังสือ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ  ว่า

ผมออกหนังสือพิมพ์เถื่อนเป็นกระดาษฟุลสแก๊ป 2 คู่ มันเป็นเรื่องสนุกเท่านั้น เราเขียนก่อนสวดมนต์ต์ตอนค่ำ พอพระสวดมนต์เสร็จ เราก็เอามาให้อ่านกัน เขาอ่านแล้วหัวเราะ วิพากษ์วิจารณ์กัน เรามีความอวดดีที่จะทำให้คนอื่นเขาหัวเราะได้ รู้สึกว่ามันทำให้เพื่อนสบายใจ จิตมันเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ได้คำนึงถึงสาระอะไรในตอนแรก”

เล่ากันว่า เจ้าคณะอำเภอเคยถามขณะที่ท่านยังเป็นพระเงื่อมว่า มีความคิดเห็นในการใช้ชีวิตอย่างไร ท่านตอบว่า“ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ ให้มากที่สุด…แต่ถ้ายี่เก้ยจะบวช ผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย”

ท่านเจ้าคณะอำเภอเลยไปคุยกับโยมแม่ของท่านว่า ควรจะให้อยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เก้ยน้องชายของท่านนั้นไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือเป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่ ก็เรียบง่าย ตัดผมสั้นเกรียนตลอดเวลา นายยี่เก้ยก็เลยไม่ได้บวช ให้พี่ชายบวชแทนมาตลอด

นายยี่เก้ย ต่อมาก็คือ “ท่านธรรมทาส”  ฆราวาสผู้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทาน ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสวนโมกขพลารามนั่นเอง

พุทธทาส...อุดมการณ์แห่งชีวิต

พระเงื่อมได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก แล้วเรียนภาษาบาลีจนสอบได้เปรียญ 3 ประโยค ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม 4 อยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก รวมทั้งการศึกษาออกไปจากตำราถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก รวมทั้งการศึกษาคัมภีร์ที่เป็นหลักธรรมดั้งเดิมในภาษาบาลี ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ผนวกกับความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุแน่ใจว่าเส้นทางที่ตนเองได้เดินมา และกำลังจะเดินไปนั้น ไม่ใช่เส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะแต่อย่างใด หากแต่เป็นเส้นทางที่เจือด้วยยศศักดิ์และความลุ่มหลงเมามัว คลาดเคลื่อน จากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะไปมาก

            ภิกขุเงื่อมจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะไม่เลือกเดินในเส้นทางสายนี้อีกต่อไป  ดังในจดหมายที่ได้ส่งถึงนายธรรมทาสน้องชาย ซึ่งปรากฏในหนังสือ ภาพชีวิต 80 ปี พุทธทาสภิกขุ : มิติใหม่ของพระพุทธศาสนา ความว่า

“เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นที่ที่จะค้นพบความบริสุทธิ์ การถลำเข้าเรียนปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่าก้าวผิดไปหนึ่งก้าว หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้สึกว่าก้าวผิดนั่นเองทำให้พบเงื่อนว่าทำอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย

เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมา จนถึงนาทีที่มีความรู้สึกนี้ ต่อนี้ไปเราจะไม่เดินตามโลก และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ หากเราขืนเดินตามโลก และเป็นการเดินตามหลังโลก ตามหลังอย่างไม่มีเวลาทันถึงแม้ว่าเราจะได้เกิดอีกตั้งแสนชาติก็ดี บัดนี้เราจะไม่เดินตามหลังโลกอีกต่อไป จะอาศัยโลกสักแต่กาย ส่วนใจเราจะทำให้เป็นอิสระจากโลกอย่างที่สุด เพื่อเราจะได้พบความบริสุทธิ์ในขณะนั้น”

พระเงื่อมตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์ แล้วเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่เชื่อมั่น และได้ตัดสินใจก่อตั้งสถานที่ปฏิบัติธรรมขึ้นที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา โดยมีนายธรรมทาส ผู้เป็นน้องชายและคณะธรรมทานช่วยกันสำรวจหาสถานที่ และตกลงใจเลือกวัดร้างชื่อ“วัดตระพังจิก”  เพื่อก่อตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งภายหลังท่านพุทธทาสได้ตั้งชื่อว่า“สวนโมกขพลาราม”  โดยบริเวณนั้นมีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ ท่านจึงนำเอาคำ “โมก” และ “พลา” มาต่อกัน ซึ่งก็ได้ความเต็มคำว่า “กำลังแห่งความหลุดพ้น” และเมื่อรวมกับคำว่า “อาราม” ซึ่งแปลว่าที่ร่มรื่น จึงกลายมาเป็นชื่อ สำนักป่า ชื่อตรงกับวัตถุที่ท่านประสงค์ กล่าวคือ เพื่อส่งเสริมวิปัสสนาธุระและเพื่อส่งเสริมให้เกิดความหลุดพ้น

จากนั้นท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านมาไม่ผิดทางแน่ และได้ประกาศใช้ชื่อนาม “พุทธทาส” เพื่อแสดงถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน

กำเนิดนามพุทธทาส

เนื่องจากท่านพุทธทาสภิกขุพบว่า ตำราธรรมะภาษาไทยนั้นยังอธิบายไว้ไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจริงๆ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ท่านจึงเริ่มเขียนหนังสือ ตามรอยพระอรหันต์  โดยมุ่งหวังเพื่อให้เป็นแผนที่สำหรับการเดินทางไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ อันเป็นอุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งคำประณามพจน์และคำประกาศใช้นามว่า “พุทธทาส”  เป็นครั้งแรกในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า

พุทฺธสฺสาหํ นิยฺยาเทมิ สรีรญฺชีวิตญฺจิทํ พุทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโส ว พุทฺโธ เม สามิกิสฺสโร อิติ พุทฺธทาโส

ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส

 ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงที่มาของนามพุทธทาสไว้ในหนังสือ แถลงการณ์ สวนโมกข์ ๕๐ ปี  ความว่า

เราเกิดความรู้สึกที่จะรับใช้พระพุทธศาสนาขึ้นมา โดยที่เราเริ่มเข้าใจพระพุทธเจ้า และเริ่มเข้าใจพุทธศาสนา ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์ แต่แล้วมันก็ไม่ค่อยจะได้รู้จักกัน ฉะนั้นจึงอุทิศตั้งจิตว่า เราจะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา อย่างกับว่ารับใช้พระพุทธองค็ให้สมกับหน้าที่ของพระสาวก ทีนี้ทุกเย็นไม่ว่าวัดไหนเขาก็สวดทำวัตรเย็น ในบททำวัตรเย็นมันก็มีคำชัดเลยว่า “ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้แด่พระพุทธเจ้า” มันก็ยิ่งเข้ารูปกันกับเราที่ตั้งใจอยู่ว่า จะรับใช้พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นทาส จึงสมกับที่เรียกตัวเองว่า “พุทธทาส”

นี่คือความหมายของคำว่า “พุทธทาส” เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่า ไม่มีอะไรดีกว่าชีวิตของเราจะอยู่ต่อไปอีกกี่ปีก็ตามใจ ถ้าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด และสูงสุด ก็ควรจะทำงานนี้ คือรับใช้พระพุทธเจ้า ด้วยการทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายไป มีประโยชน์แก่คนทุกคนในโลกก็แล้วกัน แล้วอาตมายังคิดด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ใจว่า พุทธบริษัททุกคนเป็นพุทธทาสอยู่แล้วในตัว ไม่ใช่แต่เรา แต่เขาทำงานอย่างพุทธทาสอยู่แล้วทุกคน ช่วยรักษาบำรุงเผยแผ่พระพุทธศาสนา ฉะนั้นเราก็ไม่ยกตัว ไม่อวดดี ไม่จองหองพองขนว่า เป็นพุทธทาสแต่เราคนเดียวเท่านั้น

จากนั้น ท่านก็มุ่งมั่นทำหน้าที่ในการเผยแพร่ และสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนต่างๆ ข้อคิด ปริศนาธรรม ทั้งที่รายล้อมอยู่ในทั่วทุกบริเวณสวนโมกขพลาราม และถูกตีพิมพ์เพื่อเผยแผ่เป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่สะท้อนในความเป็นปราชญ์ ความเป็นนักคิด นักเขียนของท่าน ที่ทำให้พระพุทธศาสนาได้เข้าไปถึงหัวใจของผู้ที่ได้อ่าน และผู้ที่ได้มาเยือนสวนโมกฯ

จากบันทึกของท่าน เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2477 เขียนไว้ว่า

“…ชีวิตของข้าพเจ้า สละทุกอย่างๆ มุ่งหมายต่อความสุขนี้ และประกาศเผยแพร่ความสุขนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรดีกว่านี้ในบรรดามีอยู่ในพุทธศาสนา…”

ปณิธานแห่งชีวิต

อุดมการณ์ทางธรรมที่หยั่งรากลึกในใจ ทำให้ท่านพุทธทาสสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน แต่ยังครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนาแบบมหายาน และศาสนาอื่นๆ เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น

ด้วยความรอบรู้ที่มีทั้งกว้างขวางและลึกซึ้ง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้คนได้เลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับพื้นความรู้ และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนก็คือเพื่อนร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือต้องการให้คนพ้นจากความทุกข์

ท่านจึงได้ตั้งปณิธานในชีวิตไว้ 3 ข้อ คือ

1.ให้พุทธศาสนิกชน หรือ ศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตามเข้าถึง ความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน
2.ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
3.ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

ด้วยความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ ทำให้บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน หาว่า

ท่านจ้วงจาบพระพุทธศาสนา บ้างหาว่าท่านเป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์ หรือบางคนก็ว่าท่านรับจ้างคนคริสต์มาทำลายล้างพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านก็รับฟังคำวิจารณ์ด้วยใจเป็นกลาง มองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิดในเรื่องเนื้อหาและหลักการ มากกว่าที่จะก่อความขัดแย้งส่วนตัว เพราะท่านมีหลักในการทำงานว่า

พุทธบุตรทุกคนไม่มีกังวลในการรักษาชื่อเสียง มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์ เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้นอย่านึกถึงเลยเป็นอันขาด จะกลายเป็นเศร้าหมอง และหลอกลวงไปไม่มากก็น้อย”

แต่ในที่สุด ท่านก็ได้รับการยอมรับจากวงการคณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทย และวงการศึกษาธรรมะของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็น เสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลังกึ่งพุทธกาล เยี่ยงพระมหากัสสปในครั้งพุทธกาล

ในปี พ.ศ. 2549 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกมีมติประกาศยกย่องพระธรรมโกศาจารย์หรือ “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก นับเป็นคนไทยคนที่ 18 ที่ได้รับการยกย่องเช่นนี้

พุทธทาสภิกขุ

แม้ท่านจะได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นมาตามลำดับ จนเป็นถึงพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมโกศาจารย์ ในปี พ.ศ. 2520 แต่ท่านก็จะใช้เมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่อทางราชการเท่านั้น แต่โดยทั่วไปแล้ว ท่านจะใช้นามว่า“พุทธทาส อินทปัญโญ” เสมอ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตัวของท่าน ดังความหมายและอุดมคติที่มาของชื่อ “พุทธทาส”

ตลอดชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านย้ำอยู่เสมอว่า "ธรรมะ คือ หน้าที่" เป็นการทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอด ทั้งทางฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์ และท่านก็ได้ทำหน้าที่ ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้าทุกอณูแห่งลมหายใจเข้าออก จนแม้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต สร้างสรรค์มรดกทางธรรมไว้มากมาย

ตลอดชีวิตของท่านอุทิศให้กับการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานบรรยายธรรมะ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาสวนโมกขพลารามให้เป็นสถานที่ยกระดับจิตวิญญาณของผู้มาเยือน และผู้มาปฏิบัติธรรม ด้วยการสอดแทรกปริศนาธรรม และธรรมะต่างๆ อยู่ในทุกๆ ย่างก้าวที่ผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้จะสัมผัสได้

ท่านพุทธทาสได้ละสังขารคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น“พุทธทาส”  เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนาดังบทประพันธ์ของท่านที่ว่า

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย   แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง

                   ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง              นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

                   พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย             ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา

                   สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา              ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย

                   พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย             อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย

                   ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย         โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ

                            แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว         แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย

                   ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย         ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง

                   ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย                 ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง

                   มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง                          เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง

                   ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด                ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง

                   ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง                   ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ

error: Content is protected !!