หลวงปู่โต๊ะ

หลวงปู่โต๊ะ

ศิษย์พระตถาคตผู้เปี่ยมเมตตา งดงามด้วยปฏิปทาและจริยาวัตร

หลวงปู่โต๊ะ ครูสอนกรรมฐานพ่อหลวง ร.9

  หลายคนอาจไม่รู้จักภิกษุรูปนี้ ว่าท่านเป็นใคร มาจากไหน สำคัญอย่างไร  หลวงปู่โต๊ะ หรือ พระราชสังวราภิมณฑ์ แห่งวัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ภิกษุผู้สมถะและถ่อมตนรูปนี้ เป็นหนึ่งในพระอริยสงฆ์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชศรัทธา เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อสนทนาธรรมด้วยบ่อยครั้ง โดยมากจะเป็นช่วงราวๆ 3-5 ทุ่ม ส่วนใหญ่หลวงปู่โต๊ะจะสนทนาธรรมกับพระองค์ในพระอุโบสถ โดยข้อธรรมที่สนทนามักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมทั้งทรงมาฝึกกรรมฐานกับหลวงปู่โต๊ะบ่อยครั้ง ตามคำแนะนำของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระญาณสังวร เนื่องจากพระองค์เองก็ได้เรียนกรรมฐานกับหลวงปู่โต๊ะเช่นกัน

  สมถะกรรมฐาน คือแนวทางที่หลวงปู่โต๊ะใช้สอน โดยใช้การเพ่งกสิณเป็นอุบายกรรมฐาน ให้ “เพ่งอารมณ์” ไปที่พระประธานตรงหน้า เพื่อจูงใจมีสมาธิ พร้อมบริกรรมคำว่า “พุทโธ” แล้วหลับตาจนกว่าจะปรากฏภาพนิมิต หรือนิมิตกสิณของพระประธานให้เห็นในจิต หรือแม้กระทั่งยามลืมตาก็ยังสามารถมองเห็นภาพนิมิตกสิณดังกล่าวเป็นภาพติดตา

ภูมิหลัง

  พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) เป็นชาวสมุทรสงคราม ถือกำเนิดในสกุล รัตนคอน ณ บ้านใกล้คลองบางน้อย ต.บางพรหม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดว่องไว รู้ผิดชอบชั่วดี กตัญญู  มีความขยันอดทน นิสัยอ่อนโยน มักตามพ่อแม่ไปวัดเป็นประจำ และหลายครั้งมักแอบไปวัดเพียงลำพัง เพื่อฟังการสวดมนต์ของพระภิกษุสามเณร จนสามารถท่องจำได้อย่างแม่นยำในบางบทบางตอน เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ท่านก็หาได้มีจิตใจฝักใฝ่สตรีเพศดุจคนรุ่นเดียวกันไม่ จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายแห่งการดำเนินสู่มรรคาแห่งการตัดวัฏฏะอย่างสิ้นเชิง

เข้าสู่ร่มกาสาวพัตสร์

  ครั้นเมื่อท่านมีอายุย่างเข้า 17 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดประดู่ฉิมพลี เมื่อในปี พ.ศ. 2477 โดยมีพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องเรียนพระสูตรต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและว่องไว สนใจในการเจริญสมาธิกรรมฐานอย่างมุ่งมั่นมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร

  พระอาจารย์พรหม ผู้อบรมสอนสมาธิกรรมฐานให้กับท่านในสมัยนั้น เคยกล่าวไว้ว่า แทบทุกคืนจะเห็นสามเณรโต๊ะหลบไปนั่งกรรมฐานเพียงลำพังในโบสถ์ บางครั้งก็ไปเดินจงกรมอยู่ในป่าริมคลองบางหลวงเพียงลำพัง ชอบเก็บตัวเงียบๆ พูดน้อย แต่ช่างซักถามอย่างฉะฉานในข้อธรรมต่างๆ

  เมื่ออายุครบ 20 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดประดู่ฉิมพลี มีฉายาในพระพุทธศาสนาว่า อินฺทสุวณฺโณ”  ตั้งใจเล่าเรียนปฏิบัติทั้งทางคันถะธุระ และวิปัสสนาธุระ ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างสม่ำเสมอ

  ต่อมาพระอธิการคำเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้นได้ลาสิกขาบทออกไป ท่านจึงรับภาระหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี เมื่อท่านมีอายุได้ 26 ปี พรรษา 6 สืบมาจนถึงแก่กาลมรณภาพ

  แม้ท่านต้องรับภาระเป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี มีหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ แต่ก็มิย่อท้อต่อการศึกษาและการปฏิบัติทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระด้วยความมุมานะ จนสอบนักธรรมตรีได้ เมื่อปี พ.ศ. 2455

  ตอนเป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆ ในช่วงออกพรรษา ท่านมักจะออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ และศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์หลายต่อหลายอาจารย์ บางครั้งก็หายเข้าไปในป่าลึกนานๆ เมื่อจำพรรษาในวัดมักชอบเก็บตัวเงียบๆ ภายในกุฏิ มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รักสันโดษ ตั้งมั่นในสัมมาปฏิบัติตลอดต้นชนปลายที่ทรงสมณเพศ ศึกษาพระธรรมจนแตกฉาน และเชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระจนเป็นที่ศรัทธาของผู้คนทุกชนชั้นตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เหล่าราชวงศ์ และสามัญชน

ปฏิปทาและจริยาวัตร

  หลวงปู่โต๊ะ ท่านเป็นผู้เยี่ยมด้วยความสะอาดแห่งความประพฤติทั้งทางกาย วาจา ใจ เปี่ยมด้วยจิตซึ่งทรงไว้ด้วยคุณธรรม กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัศนะตามลำดับ มีความองอาจกล้าหาญต่อการละชั่ว ทำดี ดำเนินตามรอยบาทวิถีที่พระศาสดา มีความสว่างไสวอยู่ด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องส่องทาง ท่านเป็นผู้เทิดทูนศาสนธรรมไว้ได้ทั้งทางปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธอย่างเต็มภาคภูมิ

  นอกจากนี้ ท่านยังเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรอย่างใกล้ชิด ให้ความอนุเคราะห์สงเคราะห์อย่างสมเหตุสมผลอย่างสม่ำเสมอ ในการประชุมเพื่ออบรมธรรม ท่านจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจถามปัญหาธรรมะอยู่เป็นประจำ และสามารถตอบได้อย่างชัดเจน ยังความกระจ่างให้บังเกิดแก่ผู้ซักถามอย่างน่าอัศจรรย์ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้แตกฉานในธรรม ทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ

  หลวงปู่ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยอัปจายนธรรม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ได้ไปพบปะสนทนาธรรมกับหลวงปู่อย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นพระศาสนโสภณ ได้กราบอาราธนาให้หลวงปู่ไปสอนกรรมฐานบรรยายธรรมเป็นประจำที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่หลวงปู่ท่านก็ยังคงอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งที่พรรษายุกาลท่านมากกว่า

  แม้ย่างเข้าสู่วัยชรา หลวงปู่โต๊ะก็ยังคงนั่งบำเพ็ญสมณธรรมจนถึงเวลาดึกดื่น บางวันล่วงถึงเที่ยงคืน โดยไม่ย่อท้อต่อความเสื่อมของสังขาร และทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น สมเป็นศิษย์พระตถาคตผู้งดงามด้วยความประพฤติทั้งภายนอก และภายในอย่างไม่มีที่ติ ซื่อตรงต่อตนเอง และพระธรรมวินัย

  หลวงปู่โต๊ะสิ้นลมด้วยอาการสงบดุจนอนหลับไป ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2524 เวลา 09.55 น. สิริอายุ 93 ปี 10 เดือน กับ 22 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุและพระราชทานเพลิงเผาศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์  วัดเทพศิรินทราวาส ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระราชสังวราภิมณฑ์ ตลอดจนศิษยานุศิษย์ทุกคนอย่างหาที่สุดมิได้

  แม้หลวงปู่โต๊ะจะละสังขารไปแล้ว แต่ท่านได้ทิ้งแบบอย่าง ศีลวัตรปฏิบัติอันงดงาม และแนวทางการภาวนาแบบสมถะเป็นมรดกให้ศิษยานุศิษย์นำไปฝึกปฏิบัติเพื่อเข้าสู่มรรคนิพานสืบไป

หลวงปู่โต๊ะ(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!