สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

วิถีแห่งอริยะสงฆ์ผู้สมถะ

  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) พระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ฉายา สุวฑฺฒโน เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ถือเป็น สมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี  สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ขณะทรงพระเยาว์

  เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน) หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อ และไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น

ชีวิตบรรพชาและอุปสมบท

  เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งทรงป่วยหนักจนญาติๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้ว และได้บนไว้ว่าถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บน ในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

  พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมตามคำชักชวนของพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) เนื่องจากตั้งใจจะให้พระองค์กลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามและจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้

https://www.nasatta.com/th/wp-content/uploads/2018/06/nasatta-2018-06-27_15-58-28_607238-content-20180627--.pdfจึงได้นำพระองค์ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2470 แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาบาลี โดยมีพระเปรียญจากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอาจารย์สอน

  ถึงแม้จะออกพรรษาแล้ว ท่านก็ยังคงเพลิดเพลินกับชีวิตพรหมจรรย์ และการศึกษาพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนับตั้งแต่นั้นท่านได้ปวารณาตน ว่าจะอุทิศทั้งชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา

  พระองค์จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473

  หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษีได้นำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน”  ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”  จนกระทั่งพระชันษาครบอุปสมบท จึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อปี พ.ศ. 2476 และภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัย และที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำใน ธรรมยุติกนิกาย  เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2477) โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

  ในช่วงที่พระองค์สอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ทรงตั้งพระทัยอย่างมาก แต่ผลปรากฏว่าทรงสอบตก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้และคิดว่า “คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว”  แต่เมื่อทรงคิดไตร่ตรองทบทวนดู ก็ทรงตระหนักได้ว่า เหตุแห่งการสอบตกนั้นเกิดจากความประมาทโดยแท้ กล่าวคือ ทรงทำข้อสอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว ทั้งยังมุ่งอ่านเฉพาะเนื้อหาที่เก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น ซึ่งพระองค์ทรงพบว่าเป็นวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง เป็นสาเหตุที่ทำให้สอบตก เมื่อทรงตระหนักได้ดังนี้แล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง พระองค์จึงสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค ในปี พ.ศ. 2475

  จากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา 1 พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค โดยในระหว่างที่ทรงอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็ยังคงกลับไปช่วยสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่เสมอ พระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม 9 ในปี พ.ศ. 2484

  เมื่อพระชันษา 34 พรรษา เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2499 พระองค์ก็ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้เป็นพระอภิบาลโดยตลอด

การปฏิบัติหน้าที่ด้านคณะสงฆ์

  หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว ได้ทรงเริ่มงานอันเกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์มากมาย นอกจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว ยังทรงเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร มีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณร ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี รวมทั้งทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง ในฐานะเป็นพระเปรียญ 9 ประโยค

  ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 เพื่อเป็นสถาบัน การศึกษาของสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ซึ่งจัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา และสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษา และอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา นอกจากนี้ ยังทรงเป็นเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วย

  ในปี พ.ศ. 2531 เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  เป็นพระองค์แรกที่ใช้พระนามเฉกเช่นนั้น กล่าวคือ สมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น โดยปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งครั้งมีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ (ในพระนามใช้ราชทินนาม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)

พระสังฆราชผู้สมถะ

  ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีคุณูปการอันทรงคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ ในฐานะประมุขสงฆ์สูงสุด พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและพระศาสนกิจได้ครบถ้วน ทั้งยังดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

  พระองค์ยังได้รับการยกย่องเป็น “ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา” (Supreme Holiness of World Buddhism) อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการทูลถวายจากผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศ ที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด รวมทั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งประเทศไทย ผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรม นำไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและทั่วโลก นับเป็นแบบอย่างของสากลโลก ซึ่งเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลก

  ตลอดชีวิตการเป็นภิกษุ พระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเรียบง่าย แม้ที่อยู่อาศัยก็ไม่โปรดให้ประดับตกแต่ง ไม่ทรงสะสมวัตถุสิ่งของที่มีผู้ถวายมา แต่จะทรงแจกจ่ายต่อไปตามโอกาส ทรงเตือนภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า “พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา เป็นพระต้องจน”   ไม่เพียงแต่ทรงสอนผู้อื่นเท่านั้น แต่ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นพระที่จนเหมือนกัน

  ครั้งหนึ่ง หลังจากทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วไม่นานนัก ศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่ง มากราบทูลว่า “ขณะนี้วัดที่เมืองกาญจน์กำลังสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ เกือบจะเสร็จแล้ว ยังขาดเงินอีกราว 7-8 แสนบาท อยากกราบทูลใต้ฝ่าพระบาทเสด็จไปโปรดสักครั้ง สะพานจะได้เสร็จเร็วๆ ไม่ทราบว่าใต้พระบาทจะพอมีเวลาเสด็จได้หรือไม่ กระหม่อม”  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตรัสตอบว่า

      “เวลาน่ะพอมี แต่เงินตั้งแสนจะเอาที่ไหน เพราะพระไม่มีอาชีพการงานไม่มี รายได้เหมือนชาวบ้าน แล้วแต่เขาจะให้”

  นอกจากนั้น ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร พระธรรมเทศนา และตำราด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย

  ในย่อหน้าสุดท้ายของหนังสือ “ชีวิตนี้น้อยนัก” พระนิพนธ์ของพระองค์ ที่มุ่งให้เปรียบเทียบชีวิตนี้กับชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วนอีกเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา ไม่สามารถพาตนพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้ ได้เขียนไว้ว่า

  “ ชีวิตนี้น้อยนัก พึงใช้ชีวิตนี้อย่างผู้มีปัญญาให้เป็น ทางไปสู่ชีวิตหน้าที่ยืนนาน ให้เป็นสุคติที่ไม่มีกาลเวลาหาขอบเขตมิได้ โดยยึดหลักสําคัญคือ ความกตัญญูกตเวทีต่อมารดา บิดา และต่อสถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงทุกลมหายใจเข้าออกเถิด”

  ที่ว่า “ชีวิตนี้” คือชีวิตนี้ คือชีวิตในชาติปัจจุบันนี้สำคัญ ก็เพราะในชีวิตนี้เราสามารถหนีกรรมไม่ดีที่ทำไว้ในอดีตได้ และสามารถเตรียมสร้างชีวิตในอนาคตให้ดีเลิศเพียงใดก็ได้ หรือตกต่ำเพียงใดก็ได้ ชีวิตในอดีตล่วงเลยไปแล้ว ทำอะไรอีกไม่ได้ต่อไปแล้ว ชีวิตในอนาคตก็ยังไม่ถึง ยังทำอะไรไม่ได้ เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าชีวิตนี้สำคัญนัก พึงใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ ให้สมกับความสำคัญของชีวิตนี้

 

 

สมเด็จพระญาณสังวร(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!