หลวงพ่ออุตตมะ

หลวงพ่ออุตตมะ

เทพเจ้าของชาวมอญ

  พระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ) หรือ “พระมหาอุตตมะรัมโภภิกขุ”  หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ “หลวงพ่อุตตมะ”  พระมหาเถระชื่อดังของจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งยังเป็นพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญ ผู้มีบทบาทผู้นำคนสำคัญ และศูนย์รวมใจของชาวมอญพลัดถิ่นที่ อำเภอสังขละบุรี

  ไม่เพียงแต่เป็นพระภิกษุที่ต้องทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา ท่านยังเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนชาวมอญ ด้วยการสร้างวัดวังก์วิเวการาม และสร้างสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเรีย ที่ชาวบ้านเรียกว่า สะพานมอญ  มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์  ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับที่สองของโลก แน่นอนว่า การจะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้สำเร็จลงได้เกิดจากร่วมแรงร่วมใจจากผู้คนที่มีจิตศรัทธาในตัวท่านนั่นเอง

  หลวงพ่ออุตตมะเกิดเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ พ.ศ. 2453 ที่หมู่บ้านโมกกะเนียง ตำบลเกลาสะ อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากเป็นทารกเพศชายเกิดในวันอาทิตย์จึงมีชื่อว่า “เอหม่อง”

  ขณะเด็กชายเอหม่องมีอายุได้ 9 ขวบ เกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน บิดามารดาจึงพาเด็กชายเอหม่องไปฝากกับพระอาจารย์นันสาโร แห่งวัดโมกกะเนียง ผู้เป็นลุง เพื่อให้ปรนนิบัติรับใช้และศึกษาพระธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองจากโรคภัย เด็กชายเอหม่องเป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาอย่างยิ่ง จนสามารถสอบได้ชนะเด็กในวัยเดียวกันเป็นประจำทุกๆ ปี

  เมื่ออายุได้ 14 ปี เกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้ต้องสูญเสียน้องชายถึง 5 คน เด็กชายเอหม่องจึงขอออกจากวัดโนกกะเนียงเพื่อมาช่วยเหลือทางบ้านด้วยความขยันขันแข็ง

  จนกระทั่งอายุ 18 ปี เจ้าอาวาสวัดเกลาสะ เมืองมะละแหม่ง ได้ไปขอกับบิดามารดาให้เด็กชายเอหม่องไปบรรพชาเป็นสามเณร เพียงปีเดียว ก็สามารถศึกษาภาษาบาลี และพระปริยัติธรรม จนสอบได้นักธรรมตรี

  และอีกปีหนึ่งต่อมา ก็สามารถสอบได้นักธรรมโท แต่ไม่นานหลวงพ่อก็ตัดสินใจสึกออกมา เพราะเห็นว่าไม่มีใครช่วยบิดามารดาทำนา

  ภายหลังมีลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งพ่อแม่เสียชีวิตจนหมดได้มาอาศัยอยู่ด้วย ทำให้มีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระในการทำนา และมีญาติซึ่งไว้วางใจได้มาคอยดูแลบิดามารดา หลวงพ่ออุตตมะจึงตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเกลาสะอีกครั้ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้รับฉายาว่า “อุตตมรัมโภ” แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด” โดยหลวงพ่ออุตตมะได้ตั้งเจตจำนงที่จะบวชไม่สึกจนตลอดชีวิต

  ด้วยความพากเพียรและใฝ่ใจในการศึกษาพระธรรม จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ณ สำนักเรียนวัดปราสาททอง อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง และต่อมาสอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสุขการี อำเภอสะเทิม จังหวัดสะเทิม ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า

  ขณะนั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงพ่อจึงเดินทางกลับวัดเกลาสะ และได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีแก่ภิกษุสามเณร ต่อมาท่านก็ลาพระอุปัชฌาย์เดินทางไปศึกษาวิปัสนากรรมฐานที่วัดตองจอย จังหวัดมะละแหม่ง และวัดป่าเลไลย์ จังหวัดมัณฑะเลย์ จนมีความรู้ความสามารถในเรื่องวิปัสนากรรมฐานตลอดจนวิชาไสยศาสตร์และพุทธคมเป็นอย่างดี

  พ.ศ. 2486 หลวงพ่ออุตตมะได้เริ่มออกธุดงค์เพื่อหาประสบการณ์ทางธรรม ไปทั่วทั้งในประเทศพม่า และข้ามเข้ามาประเทศไทยครั้งแรก ทางจังหวัดเชียงใหม่

  ต่อมาทราบข่าวว่าพระเกตุมาลา พระอุปัชฌาย์ของตนอาพาธ จึงรีบเดินทางกลับพม่า จนกระทั่งพระเกตุมาลามรณภาพ ท่านก็ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

  ในปี พ.ศ. 2492 อันเป็นพรรษาที่ 16 ของพระมหาอุตตมะรัมโภ พายุไต้ฝุ่นพัดจากทะเลอันดามัน สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะบ้านโมกกะเนียง และเกลาสะ มีผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยคน บ้านเรือนเหลือเพียงไม่กี่หลังคาเรือน ชาวบ้านลำบากยากแค้นแสนสาหัส ข้าวของอาหารการกินขาดแคลนกันทั่วหน้า

  นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว ชาวบ้านยังต้องประสบเคราะห์กรรมจากปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองในประเทศอีกด้วย เนื่องจากการปะทะและต่อสู้ระหว่างกองทหารของรัฐบาลพม่ากับกองกำลังติดอาวุธกู้ชาติ อีกทั้งกองกำลังกู้ชาติบางกลุ่มแปรตัวเองไปเป็นโจรปล้นสดมภ์ชาวบ้าน ด้วยความเบื่อหน่ายเรื่องการรบราฆ่าฟันกัน ระหว่างชนเผ่าในบ้านเกิดเมืองนอน หลวงพ่ออุตตมะจึงตัดสินใจจากบ้านเกิด มุ่งหน้าสู่ดินแดนประเทศไทย

  ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2492-2493 หลวงพ่อได้เดินทางเข้าเมืองไทยทางหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก ชายแดนเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยเชื้อสายมอญพระประแดงสองคน ทั้งคู่ได้จัดบ้านพักหลังหนึ่งให้เป็นกุฏิชั่วคราวของหลวงพ่อ มีชาวเหมืองจำนวนมากมาทำบุญกับหลวงพ่อ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นไม่มีวัดและพระสงฆ์เลย

  เดิมทีนั้น ชาวบ้านต้องการสร้างกุฏิถวายให้เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อจะได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านอีต่อง แต่หลวงพ่อไม่รับ เนื่องจากเกรงว่าจะกลายเป็นพระเถื่อนเข้าเมืองไทย ท่านจึงไปขออนุญาตจากพระผู้ใหญ่ที่ปกครองเขตปิล็อก และได้มาจำพรรษาที่วัดท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี กับหลวงพ่อไตแนมซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง และอุปสมบทที่วัดเกลาสะเช่นเดียวกับท่าน

  ขณะจำพรรษาที่วัดท่าขนุน หลวงพ่ออุตตมะมีโอกาสไปสักการะพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และได้พบกับชาวไทยเชื้อสายมอญที่มาจากเมืองต่างๆ เช่น แม่กลอง สมุทรสาคร มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้นิมนต์หลวงพ่อไปจำพรรษาที่วัดบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

  ภายหลังหลังเดินทางกลับจากวัดบางปลามาจำพรรษาที่วัดท่าขนุน หลวงพ่อไตแนมได้ขอให้หลวงพ่ออุตตมะไปจำพรรษาที่วัดปรังกาสีซึ่งเป็นวัดร้าง เนื่องจากบริเวณนั้นมีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีพระหรือวัดอยู่เลย

  หลวงพ่ออุตตมะจำพรรษาอยู่วัดปรังกาสีหนึ่งพรรษา ต่อมาผู้ใหญ่ทุม จากท่าขนุนมานิมนต์หลวงพ่อไปเยี่ยมหลวงปู่แสง ที่วัดเกาะ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเคยไปจำพรรษาที่วัดโมกกะเนียง เกลาสะ และมะละแหม่งมาก่อน และในพรรษานั้น หลวงพ่ออุตตมะได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ ตามคำนิมนต์ของหลวงปู่แสง

  ใน พ.ศ. 2494 ขณะที่หลวงพ่อจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ มีคนมาแจ้งข่าวแก่หลวงพ่อว่า ที่กิ่งอำเภอสังขละบุรีมีชาวมอญจากบ้านเดิมของหลวงพ่ออพยพเข้าเมืองไทยทางบีคลี่เป็นจำนวนมาก และต้องการนิมนต์หลวงพ่อไปเยี่ยม เมื่อหลวงพ่ออุตตมะออกจากจำพรรษา แล้วเดินทางกลับไปยังอำเภอทองผาภูมิ และไปยังอำเภอสังขละบุรี และพบกับคนมอญทั้งหมดที่มาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง บ้านเกิดของท่าน หลวงพ่อจึงพาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง นับเป็นจุดกำเนิดแรกเริ่มของชุมชนชาวมอญในสังขละบุรี และมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชุมชนชาวมอญ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

  ใน พ.ศ.2499 หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้พร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ  ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ เพราะมีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาใน พ.ศ.2505  ให้ใช้ชื่อว่า “วัดวังก์วิเวการาม”  ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอวังกะ ในวัดมีการก่อสร้างเจดีย์จำลองแบบจากวัดมหาโพธิ์ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย เริ่มก่อสร้าง พ.ศ.2518 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2529 (โดยปั้นอิฐเอง)

  ต่อมา ในปี พ.ศ. 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้ก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ หรือเขื่อนเขาแหลม น้ำในเขื่อนจะต้องเข้าท่วมตัวอำเภอเก่า รวมทั้งหมู่บ้านชาวมอญ กินพื้นที่ 1,000 ไร่เศษ ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันย้ายวัดขึ้นไปอยู่บนเนินเขา ซีงเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน โดยทางราชการได้ช่วยเหลือในการอพยพผู้คนราว 1,000 หลังคาเรือน

  ส่วนบริเวณวัดหลวงพ่ออุตตมะเดิม ปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำ และมีชื่อเสียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว 1 ใน Unseen in Thailand เป็นที่รู้จักกันในนาม “วัดใต้น้ำ สังขละบุรี”

  เมื่อปี พ.ศ.2534 หลวงพ่ออุตตมะ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์ เป็น “พระราชอุดมมงคล” ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามเรื่อยมา ท่านได้บำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์มากมายให้กับชุมชน และบุคคลต่างๆ ทั้งชาวมอญ ชาวไทย ชาวกะเหรี่ยง และบุคคลทั่วสารทิศ จนมีศิษยานุศิษย์มากมาย

  เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 หลวงพ่ออุตตมะ ได้อาพาธจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากภาวะปอดอักเสบมาก่อนที่โรงพยาบาลศิริราช อยู่ในความดูแลของคณะแพทย์ และในฐานะคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จนกระทั่งเมื่อกลางเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้มีอาการติดเชื้อทำให้ทรุดหนัก และไม่สามารถยื้ออาการไข้ไว้ได้ จึงได้มรณภาพจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2549 เวลา 07.22 น. สิริอายุ 97 ปี

       แม้วันนี้หลวงพ่ออุตตมะจะละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ท่านก็ยังคงเป็นที่เคารพศรัทธา และเป็นสัญลักษณ์รวมใจของชุมชนชาวมอญไม่เสื่อมคลาย

หลวงพ่ออุตตมะ(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!