หลวงปู่ฤาษีลิงดำ

พระราชพรหมยาน หลวงปู่ฤาษีลิงดำ

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

  พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ” ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดจันทาราม หรือวัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนได้วิชามโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)

  “วิชามโนมยิทธิควรใช้เพื่อตัดกิเลส ในเมื่อเราสามารถจะเข้าถึงนิพพาน ก็จงมีความภูมิใจว่า ถ้าเราไม่เลวเกินไปชาตินี้ เราก็ไปพระนิพพานได้ ที่ว่าไม่เลวเกินไป ก็เพราะอะไร เพราะว่าที่เลวเกินไป ก็หมายถึงว่าเป็นคนที่มีความประมาท การเอาวิชาความรู้ประเภทนี้ไปเที่ยวอวดชาวบ้านว่าฉันเห็นนั่นเห็นนี่บ้าง ถ้าอวดแบบนี้มีสิทธิ์พลาดพลั้ง ถ้าทรุดตัวเมื่อไหร่ การตีตัวขึ้นเป็นของยาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราตกอยู่ในความประมาท ถ้าตกอยู่ในความประมาทเมื่อไหร่ ก็แสดงว่านิวรณ์ก็กินใจเราเมื่อนั้น ในเมื่อนิวรณ์กินใจ ทุกคนมีหวังลงนรก”

  นี่เป็นคำสอนตอนหนึ่งเกี่ยวกับ “มโนมยิทธิ” ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ คำพูดที่สื่อด้วยภาษาง่ายๆ ตรงๆ ไม่อ้อมค้อม จนเป็นเอกลักษณ์ ด้วยความเรียบง่ายของภาษาหากแต่ลึกซึ้งในความหมาย เป็นคำสอนที่เข้าใจง่าย หากชี้ให้เห็นความจริงของธรรมะได้อย่างกระจ่างแจ้ง ทำให้มีบรรดาศิษยานุศิษย์มากมายให้ความเลื่อมใสศรัทธา

  ก่อนที่พระราชพรหมยานจะเกิดนั้น มารดาของท่านฝันว่า เห็นพระพรหมมีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูปนอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย เมื่อเกิดมาใหม่ๆ หลวงพ่อเล็ก เกสโร ซึ่งมีฐานะเป็นลุง ได้กล่าวว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า “พรหม"

  เมื่ออายุได้ 7 ขวบ ท่านเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งอายุ 15 ปี ท่านได้มาอาศัยอยู่กับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี และได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ

  จนอายุได้ 19 ปี ก็เข้าทำงานเป็นเภสัชกรทหาร สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า)  และได้อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่พัทธสีมาวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ (อยู่ ติสฺโส) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) เจ้าอาวาสวัดบางนมโคเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค เป็นพระอนุสาวนาจารย์

  เมื่ออายุ 52 ปี  ท่านจึงมาอยู่วัดจันทาราม (ท่าซุง) ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ได้ทำบูรณะ สร้าง และขยายวัด ตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งศูนย์ฯ นี้ได้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศทั้งการแจกเสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรคแก่ราษฎรผู้ยากจน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ การจัดแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย การให้ทุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน การบริจาคทุนทรัพย์ให้แก่มูลนิธิและโรงพยาบาลต่างๆ ฯลฯ

  กล่าวกันว่า คนที่ต้องการเป็นศิษย์ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ไม่ต้องขออนุญาต ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็รับเป็นศิษย์ แต่ขอให้ปฏิบัติตามที่ท่านสอน คือ

  “ศิษย์ชั้นที่ 3”  คือให้พยายามรักษาศีล 5 เสมอ อาจจะขาดตกบกพร่องบ้าง แต่ก็พยายามรักษาให้ครบถ้วนให้มากที่สุด หากทำได้อย่างนี้ ท่านก็ขอรับไว้เป็นศิษย์ชั้น 3 หรือ “ศิษย์ขนาดจิ๋ว”

  “ศิษย์รุ่นกลาง”  คือต้องมีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ พยายามรักษาอารมณ์ให้ทรงสมาธิเสมอตามสมควร ไม่ละเมิดศีลเป็นปกติ

  “ศิษย์เอก”  คือรักษาศีล 5 ครบถ้วนเป็นปกติ เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไม่สงสัยในความดีของท่าน มีอารมณ์ตั้งมั่นว่า ถ้าตายไปจากคนชาตินี้ ขอไปนิพพานจุดเดียว พยายามละความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นปกติ

  และอีกคำสอนที่ตรงไปตรงมาซึ่งลูกศิษย์ลูกหาของท่านคุ้นเคยกันดี

  “ศรัทธา”  นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” ตั้งมั่นใจการเจริญสมาธิ อย่าทำเพื่อโอ้อวด จะทำได้ดีให้ถือใจพระพุทธเจ้าที่ว่า “ใครเขาจะมีกินมาก ใครเขาจะมีกินน้อย ใครเขาอ้วนมาก ใครเขาอ้วนน้อย ใครเขามีสาวกมาก ใครเขามีสาวกน้อย คนนั้นมีสมบัติมาก คนนั้นมีสมบัติน้อย คนนั้นเจริญสมาธิ วิปัสสนาญาณ...แล้วยังแต่งตัวสวย ยังผัดหน้า ยังทาแป้ง ใครเขาจะดีจะชั่วอย่างไรเป็นเรื่องของเขา จงอย่าไปสนใจ เราจะนั่งสมาธิก็จงอย่านั่งให้บุคคลอื่นเห็น ถ้าหากไปทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า...ยังมีกิเลสอีกมาก”

  นับได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเป็นปูชนียบุคคลผู้อยู่ด้วยความกรุณาเป็นปกติ พร่ำสอนธรรมะและสิ่งที่เป็นประโยชน์ สงเคราะห์เกื้อกูลมหาชนด้วยเมตตามหาศาลสมกับเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสแท้องค์หนึ่ง

  จนกระทั่งเมื่อท่านอายุ 76 ปี ท่านได้อาพาธด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และมรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2535 หลังมรณภาพ สังขารร่างกายของท่านมิได้เน่าเปื่อยอย่างศพของคนทั่วไป และได้มีการเก็บรักษาไว้ที่วัดท่าซุงจนถึงปัจจุบันนี้ 

  ตลอดการเป็นภิกษุของท่าน คำสอนของหลวงพ่อฤาษีลิงดำมุ่งเน้นให้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงนิพพาน โดยไม่ลดละความพยายาม และไม่ยอมอ่อนข้อกับความเสื่อมใดๆ ดังที่ท่านได้สอนไว้ว่า

  “บุคคลใดเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาแล้ว มีศรัทธา-ความเชื่อ ปสาทะ-ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีจิตน้อมไปในกุศล แสดงว่าบุคคลนั้นมีบารมี เข้าถึงปรมัตถบารมี สามารถจะเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาติปัจจุบัน”

  ส่วนฉายา “หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” นั้นมาจากตอนที่ท่านเขียนหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน แต่ท่านไม่รู้จะใช้นามปากกาอะไรดี สมัยที่ท่านอยู่กับหลวงพ่อปาน หลวงพ่อปานมักจะเรียกหลวงปู่กับเพื่อนอีกสองคนว่า ลิงดำ ลิงขาว และลิงเล็กเสมอๆ ท่านเลยขอใช้ชื่อที่หลวงพ่อปานเรียกมาเป็นนามปากกา โดยเติมฤาษีเข้าไปข้างหน้าเพื่อให้สื่อถึงการเป็นผู้บำเพ็ญ จึงปรากฎเป็นนามปากกาว่า “ฤาษีลิงดำ” เมื่อมีศิษย์รู้มากเข้าว่า ท่านเขียนหนังสือต่างพากันเรียกขานท่านด้วยนามปากกานี้ ท่านจึงปล่อยเลยตามเลย ปรากฏเป็นชื่อใหม่ของ ‘พระมหาวีระ’ ว่า ‘หลวงพ่อฤาษีลิงดำ’ หรือหลวงปู่ฤาษีลิงดำในภายหลัง ผู้เป็นสมณะที่ปฏิบัติจริง ประพฤติชอบ และกอปรด้วยแก่นธรรมะ

พระราชพรหมยาน หลวงปู่ฤาษีลิงดำ(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!