หลวงปู่สุภา กันตสีโล
พระอริยะ 5 แผ่นดิน
หลวงปู่สุภา กันตสีโล พระอริยะ 5 แผ่นดิน พระป่าสายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ละสังขารไปในวัย 118 ปี ท่านได้ถือครองเพศบรรชิตยาวนานถึง 97 พรรษา 45 ปี กับการออกธุดงควัตรแสวงหาโมกขธรรมกับครูบาอาจารย์ ยึดถือการธุดงค์ปลีกวิเวกไปยังสถานที่สัปปายะ ขัดเกลากิเลส อบรมจิตขอตนเองให้อยู่กับความสันโดษ ยึดมั่นในพุทธคุณที่ได้เรียนรู้จากธรรมปฏิบัติ สร้างวัตถุมงคลเพื่อเป็นพึ่งทางใจคนยากมากมาย รวมทั้งการสร้างศาสนสถาน ถาวรวัตถุ เพื่อสืบอายุพุทธศาสนาในทุกพื้นที่ท่านธุดงค์ไป ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เคารพศรัทธาในตัวท่านจำนวนมาก
“นอนน้อย กินน้อย รักสันโดษ” นี่คือคำสอนกล่าวแก่ศิษยานุศิษย์อยู่เสมอ
ปฐมบทของหลวงปู่สุภา กันตสีโล
หลวงปู่สุภา ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2439 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ณ บ้านคำบ่อ ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
เมื่อมีอายุได้ 9 ขวบบิดามารดาจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์สวน เจ้าอาวาสวัดในหมู่บ้านคำบ่อเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่เป็นเวลา 1 ปี แล้วได้เดินทางไปศึกษาไปเรียนหนังสือคัมภีร์มูลกัจจายน์ 5 เล่ม ที่วัดไพรใหญ่ จ.อุบลราชธานี
จากนั้นเข้าศึกษาวิชาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงปู่สีทัตต์ วัดพระธาตุท่าอุเทน จ.นครพนม นับเป็นพระอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐานรูปแรกของหลวงปู่สุภา“กระผมต้องการเพียงทางเดียว คือปฏิบัติทางจิต หรือ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์มีความหมายมากขึ้น หากกระผมต้องการเป็นมหาเปรียญละก็ ไม่ลงทุนมาเสาะแสวงหาพระคุณอาจารย์ถึงท่าอุเทนนี่หรอกขอรับ ขออย่างเดียว รับกระผมเป็นศิษย์ กระผมจะอยู่ในโอวาทของพระคุณอาจารย์ทุกประการ” นี่คือถ้อยคำแสดงเจตจำนงของเณรน้อยสุภาที่ให้กับพระอาจารย์
หลวงปู่สีทัตต์ได้พาเณรน้อยสุภาข้ามไปฝั่งลาว ไปยังถ้ำภูควายอันเร้นลับ แนะนำวิธีกรรมฐาน การธุดงค์ การอยู่ในป่า อยู่ในถ้ำ อยู่ในเขา ว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดผลดีแก่การปฏิบัติ จนเมื่อครบอายุ 20 ปี จึงได้อุปสมบทให้ ได้รับฉายาว่า กนฺตสีโล
4 พรรษาเต็ม แห่งการเดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร ในปี พ.ศ. 2463 ภิกษุสุภาได้กราบลาพระอาจารย์ไปธุดงค์เพียงลำพัง และไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท พระอาจารย์องค์ที่สอง เล่าเรียนวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมอยู่ถึง 3 ปีเต็ม จนได้รับความรู้อย่างลึกซึ้ง
จากนั้นท่านได้แบกกลดใฝ่หาธรรม ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ศึกษาด้านกสินและฌาณสมาบัติ จากนั้นก็ได้ออกธุดงค์ไปทั่วทุกภาคของประเทศ รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามไปยังประเทศเขมร ลาว พม่า จีน รวมทั้งจาริกไปยังดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย และข้ามไปยังอัฟกานิสถาน ดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่เข้มแข็งอีกแห่งหนึ่ง เมื่อครั้งยังไม่มีสงครามเช่นในปัจจุบันนี้ ท่านได้ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชากับพระต่างแดนมากมาย ก่อนกลับมาเมืองไทย แล้วไปธุดงค์ บุกป่าฝ่าดง ภัยอันตราย สัตว์ร้าย และสิ่งลึกลับที่มองไม่เห็น รวมทั้งการไปปลีกวิเวกยังถ้ำลึกลับในประเทศเวียดนาม
ธุดงควัตรโปรดสัตว์
ในปี 2500 หลวงปู่สุภาเดินธุดงควัตรจนมาถึงจังหวัดภูเก็ต ก่อนมา ท่านได้นิมิตเห็นเทวดาองค์หนึ่ง บอกให้ท่านมาช่วยโปรดชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นชาวเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นทุกข์ เมื่อมาถึงครั้งแรกท่านปัดกลดที่เขารัง อ.เมือง จ.ภูเก็ต จุดชมวิวยอดนิยมของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในยุคนั้นยังเป็นพื้นที่สัปปายะ เงียบสงบ ท่านจึงอยากสร้างวัดขึ้นบนนั้น แต่เจ้าของที่ไม่ยอมขาย จนท่านถอดใจ
คืนนั้นก่อนหลวงปู่จะถอดกลด ก็ได้นิมิตถึงภิกษุชราท่านหนึ่งมาบอกว่า“อย่าได้เสียใจไปเลย ยังมีสถานที่ที่เค้าต้องการท่านให้ไปช่วยสร้างวัด ชาวบ้านเค้ารอกันนานแล้วไม่มีใครไปสร้างให้ ขอให้ท่านข้ามทะเลไปยังเกาะสิเหร่ ที่นั่นคือที่ที่ท่านจะสมปรารถนา”
เมื่อไปถึง หลวงปู่ก็ปักกลด แสวงหาวิเวิกบนเกาะสิเหร่ และชักชวนชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้นเป็นวัดแรกของเกาะ เรียกว่า “วัดเกาะสิเหร่” นับเป็นวัดแรกที่หลวงปู่สร้างจนสำเร็จ
จากนั้นหลวงปู่ก็แบกกลดธุงค์ขึ้นไปทางภาคเหนือ และพื้นที่อื่นๆ เพื่อแสวงหาความวิเวกตามกิจวัตรของพระป่าต่อไป
หลายปีต่อมา หลวงปู่สุภาก็ได้ธุดงค์กลับมาที่จังหวัดภูเก็ตอีกครั้ง เมื่อลูกศิษย์ลูกหาทราบว่าท่านกลับก็พากันไปกราบไว้เป็นจำนวนมาก นิมนต์ให้หลวงปู่อยู่กับที่ ด้วยเพราะท่านชราภาพมากแล้ว จึงเห็นพ้องสร้างเป็นสำนักสงฆ์ให้กับหลวงปู่เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 ในวัย 106 ปี ท่านได้สร้างวัดลำดับที่ 38 ที่ อ.เมือง จ. ภูเก็ต คือวัดสีลสุภาราม อันเป็นวัดสุดท้าย และเป็นวัดแรกที่ท่านยอมรับยศเจ้าอาวาส และจำพรรษาที่นั่น
กลับถิ่นบ้านเกิด
จนเมื่อปี 2555 ท่านเริ่มป่วยด้วยโรคชราตามอายุขัย จึงตัดสินใจกลับไปจำพรรษาที่วัดคอนสวรรค์ จังหวัดสกลนคร บ้านเกิด หลังอาพาธด้วยโรคชรามานานร่วม 2 ปี แพทย์ที่ โรงพยาบาลสกลนคร ตรวจพบอาการลิ้นหัวใจรั่ว น้ำท่วมปอด ท่านต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน 3 เดือน ก่อนจะอนุญาตให้กลับวัดตามความประสงค์ของหลวงปู่ กระทั่งท่านละสังขารอย่างสงบที่ในเดือนเกิดพอดี สิริอายุ 118 ปี
หลวงปู่สุภา กันตสีโล นับเป็นภิกษุรูปหนึ่งที่ถือครองเพศบรรพชิตมาอย่างยาวนาน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และทำนุบำรุงศาสนามาอย่างต่อเนื่อง และทิ้งไว้ซึ่งมรดกธรรมให้ศิษยานุศิษย์ไปนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน