หลวงปู่ทวด

หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

ตำนานปาฏิหาริย์แห่งศรัทธา 

  เรื่่องราวของ หลวงปู่ทวด (หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ, หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด, สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์) เป็นตำนานท้องถิ่นอันลือเลื่อง ที่เล่าต่อๆ กันมากว่า 400 ปี นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ยืนยันความมีอยู่จริง แต่พลานุภาพแห่งศรัทธาของพุทธบริษัทก็มิได้เสื่อมคลายลงตามกาลเวลา

  ปัจจุบันหลวงปู่ทวดถือได้ว่าเป็นมหาเถราอาจารย์ในตำนาน ที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก รูปสำคัญ 1 ใน 2 ของเมืองไทยคู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (หลวงปู่โต) ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

ปฐมวัย

  หลวงปู่ทวด เกิดในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช นามเดิมว่า ปู เป็นชาวบ้านวัดเลียบ ตำบลดีหลวง เมืองจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ส่วนวันเดือนปีเกิดของเด็กชายปูนั้นจะตรงกับวันเดือนปีใด หลักฐานยังขัดแย้งกันมาก มีผู้สันนิษฐานไว้หลายกระแส เช่น บ้างว่าเกิดเมื่อวันแรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2115 บ้างก็ว่าเกิดวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2125 เป็นต้น

  หากแต่เล่าลือต่อๆ กันมาตรงกันคือ ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือ เกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้ว นายหู ผู้เป็นบิดาก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน

  มีเรื่องเล่าถึงเหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เป็นต้นว่า ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะ ในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนา ซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน (ซึ่งเป็นนายทาสในเรือนเบี้ยของบิดามารดา) ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมาก

  ครั้งนั้นจึงเรียกว่าทุ่งเม่า (ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อนาเปล) ในสมัยนั้น สัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร บิดามารดาจึงได้ผูกเปลของท่านไว้กับต้นมะเม่าสองต้น พอถึงเวลาให้นม ผู้เป็นมารดาก็เดินยังเปลของลูกน้อย แต่ปรากฎว่ามีงูจงอางตัวใหญ่ หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมาก จึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดู และช่วยไล่งูจงอาง แต่งูจงอางก็ไม่ยอมไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่า ขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออก และเลื้อยหายไปในป่า นายหูและนางจันทร์จึงเข้าไปดูลูกน้อย เห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใดๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปู เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว (ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ) เมื่อเศรษฐีปาน ผู้เป็นนายทาสเจ้าหนี้ทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจำต้องยอมยกลูกแก้วให้ แต่ด้วยลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวหลวงพ่อทวด เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปจึงเกิดเภทภัยในครอบครัว เกิดการเจ็บป่วยกันบ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืน และขอขมาต่อเด็กชายปู รวมทั้งยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาส และฐานะดีขึ้นๆ ส่วนเศรษฐีปานก็กลับมามีฐานะดีขึ้นดังเดิม

  เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 7 ขวบ บิดามารดาได้นำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัด เพื่อเล่าเรียนหนังสือที่วัดกุฎีหลวง (ปัจจุบันคือ วัดดีหลวง) ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้าน ท่านเป็นเด็กหัวดี เรียนเก่ง สามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

  เมื่ออายุได้ 15 ปี สมภารจวง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและมีศักดิ์เป็นลุงได้บวชสามเณรให้ และตอนนี้เองที่บิดาได้ถวายลูกแก้วประจำตัวคืนให้แก่ท่าน

  ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลา ท่านสมภารจวงจึงได้นำท่านไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ (ปัจจุบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง) ที่วัดอื่นๆ ในจ.สงขลา

  ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ จ.นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบทมีฉายาว่า “ราโม ธมฺมิโก”  คนทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าสามีราม” หรือ “เจ้าสามีราโม” ระหว่างบวชบิดามารดาได้ไปขอร้องให้ท่านสึกถึงหน้ากุฏิ แต่ท่านไม่ยอมสึก ท่านถือว่าขนาดพระพุทธเจ้าเป็นถึงเจ้าชาย ยังทรงสละราชบัลลังก์ออกบวชได้ แล้วท่านเป็นบุคคลธรรมดาจะบวชให้ตลอดไปมิได้หรือ นอกจากนี้ ท่านยังถือว่าการบวชของท่านนี้ ย่อมอำนวยประโยชน์อันสูงกว่าประโยชน์ในทางโลก

หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

  เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเมื่อท่านเดินทางจากสงขลาบ้านเกิด เพื่อไปศึกษาพระธรรมที่เมืองอโยธยา สมัยนั้นต้องใช้เรือใบแบบสำเภาเป็นพาหนะ ใช้เวลาเดินทางหลายแรมเดือน ก่อนออกเรือ พวกลูกเรือลำที่ท่านโดยสารได้ตั้งวงเล่นไพ่ และเล่นกันเพลินจนลืมเตรียมน้ำจืดไว้ใช้ในเรือ เมื่อเรือออกเดินทาง คนจึงไม่มีน้ำกิน พวกชาวเรือเหล่านั้นได้พากันกล่าวหาว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเพราะมีภิกษุจัญไร คือท่านร่วมเดินทาง ทำให้พวกเขาลืมเอาน้ำจืดลงเรือไปด้วย จนจะพากันอดน้ำตาย แล้วตกลงจะจับท่านไปปล่อยไว้ที่เกาะหนู-เกาะแมว

  หลวงปู่ทวดนิ่งฟังคำกล่าวร้ายด้วยจิตที่สงบ และเปี่ยมเมตตา แล้วจึงอธิษฐานว่า “หากแม้ข้านี้สามารถที่จะสืบต่ออายุพุทธศาสนา ทำงานให้ศาสนารุ่งเรือง ขอให้น้ำทะเลบริเวณที่เท้าเหยียบลงไปนี้จงกลายเป็นน้ำจืดเถิด”  แล้วท่านก็เอาเท้าจุ่มลงทะเล น้ำบริเวณที่ท่านจุ่มเท้าลงไปก็กลายเป็นน้ำจืด พวกชาวเรือสำเภาจึงได้ตักขึ้นไว้ใช้ในเรือ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทางจนถึงอโยธยา และด้วยเหตุการณ์ครั้งนี้เอง ท่านจึงได้รับสมญานามว่า “หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด”

  ที่เมืองอโยธยา ท่านไปศึกษาวิชาการต่างๆ อยู่ที่วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งวัดพุทไธศวรรย์นี้เป็นวัดหลวงที่พระเจ้าอู่ทองได้สร้างขึ้นเมื่อก่อนที่จะมีการย้ายเมืองหลวงมาจากกรุงสุโขทัย และพระองค์มักเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลยังวัดนี้เสมอๆ และทรงได้พบกับหลวงปู่ทวด เป็นที่สบอัธยาศัยกัน และได้ทรงแต่งตั้งให้หลวงปู่ทวดเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน พ.ศ. 2181 ขณะอายุได้ 65 ปี

รบด้วยปัญญา

  ไม่เพียงเรื่องราวความอัศจรรย์เหนือธรรมชาติของหลวงปู่ทวดเท่านั้น ยังมีอีกตำนานที่เล่าขานกันว่า ในสมัยพระเจ้าเอกาทศรถ ท่านได้ใช้ปัญญาช่วยรักษาเอกราชของบ้านเมืองเอาไว้       ในช่วงนั้นหลวงปู่ทวดพำนักอยู่ที่กรุงอโยธยา ชาวลังกาได้มาล้อมเมืองอโยธยาไว้ ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราชให้จงได้ จึงได้ส่งพราหมณ์เฒ่าพร้อมพระราชสาสน์และปริศนาธรรมท้าให้ราชสำนักแก้ปริศนานั้น โดยให้เวลาเพียงแค่ 7 วัน หากทรงแก้ไม่สำเร็จก็จะยกทัพเข้ายึดกรุงอโยธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง อีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาตลอดไปทุกๆ ปี เยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย

  ปริศนาธรรมมีอยู่ว่า พระเจ้ากรุงสยามต้องทรงแปลและเรียบเรียงพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ที่สลักลงบนแผ่นทองคำขนาดเท่าใบมะขาม จำนวน 84,000 ชิ้นให้ได้ พระเจ้าเอกาทศรถคิดไม่แตก เนื่องจากไม่มีใครสามารถแก้ปริศนาธรรมนั้นได้ จนได้ไปนิมนต์หลวงปู่ทวด หรือ “เจ้าสามีราม” ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดราชานุวาสมาช่วยแก้ปริศนาธรรม

  เมื่อเหล่าพราหมณ์เฒ่าเห็นเจ้าสามีรามก็สบประมาทว่า เอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา  เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้  พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม

  ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้ว ก็นั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด” ครั้นแล้วก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำ เริ่มแปลปริศนาธรรมทันที

  ด้วยอำนาจบุญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยาดาทั้งหลายจึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย

  ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว กฎว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไป 7 ตัว คือ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ  ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้งเจ็ด พราหมณ์ทั้งเจ็ดจำต้องยอมจำนน แล้วประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่า ท่านสามารถแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็น

  การชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้นเอง ทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นการคุกคามของกรุงลงกาได้ และเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ชื่อเสียงของหลวงปู่ทวดหรือเจ้าสามีรามระบือลือลั่นไปทั่วแผ่นดิน และพระเจ้าเอกาทศรถได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้หลวงปู่ทวดขึ้นเป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปณาจารย์”

พระเทวดารักษาโรคห่าเหือดหาย

  ต่อจากนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก สมัยนั้นยังไม่มีหยูกยาทันสมัยเช่นปัจจุบัน นิยมใช้การรักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย พระเจ้าเอกาทศรถทรงพระวิตกกังวลมาก เพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านมาเข้าเฝ้า

  หลวงปู่ทวดได้รำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและดวงแก้ววิเศษ แล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายขาดด้วยอำนาจคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ยังความพอพระราชหฤทัยให้แก่พระเจ้าเอกาทศรถเป็นอย่างยิ่ง เลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชแห่งกรุงอโยธยา นามว่า “พระสังฆราชคูรูปาจารย์”  ประทับอยู่วัดพุทไธศวรรย์ในอโยธยา และยังทรงมีรับสั่งอีกว่า “หากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใด หรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ”

  ด้วยหลวงปู่ทวดเป็นพระที่ไม่ยึดติดยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่นานท่านก็สละสมณศักดิ์ เพราะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่หนทางแห่งการบรรลุธรรม  ท่านเทศน์เคยเล่าว่า

  “เมื่อได้รับทีแรกๆ เราก็ไม่รู้สึกว่าเป็นสังฆราช เราก็ต้องทำตามแบบองค์สมณโคดม จะไปไหนๆ หรือไปในวังเราก็เดินไป แต่เขาบอกว่าไม่ได้ ท่านเป็นสังฆราช เดินไม่ได้ ต้องใช้คนแบกไป นั่งเปลอะไรก็ไม่รู้ สองคนแบกกันไป อาตมาคิดในใจว่าแย่แล้ว พอเป็นสังฆราชก็กลายเป็นคนป่วย เดินไม่ได้ ต้องให้เขาหาม ทีนี้ถ้าขืนหลงอยู่ในตำแหน่งนี้ เราก็ยิ่งฟุ้งกันใหญ่ ไม่รู้อะไรเป็นอะไร...”

  พระเจ้าเอกาทศทรงอาลัยมาก แต่ก็มิกล้าทัดทาน เพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จอย่าละทิ้งโยม”  แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา

กลับสู่ถิ่นฐาน

  ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากทุกที่ที่ธุดงค์ผ่าน ที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้ประชาชนในแถบถิ่นนั้นให้การเคารพสักการะบูชามาถึงบัดนี้ เช่น ที่บ้านโกฏิ อ.ปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น จนท่านธุดงค์มาถึง วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ  ที่บ้านเกิด อันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างซึ่งชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และพร้อมกันถวายนามท่านว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ”  ท่านเห็นวัดเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากถูกข้าศึกทำลายโจรกรรม จนมีสภาพเหมือนวัดร้าง จึงคิดบูรณปฏิสังขรณ์จนสำเร็จด้วยดี

จาริกแสวงธรรม และกระทำเมตตาแก่ญาติโยม

  หลังจากนั้นหลายพรรษา สมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะ เที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะไปหลายแห่ง

  เมื่อครั้งที่ท่านสละตำแหน่งพระสังฆราช ได้เคยจาริกไปยัง น้ำตกทรายขาว  (ปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี)  ในสมัยนั้นเป็นป่า ชุกชุมด้วยยุง งู ช้าง สิงโต และเต็มไปด้วยไข้ป่า ไข้ห่า เมื่อพระอาทิตย์ตกดินจะมืดสนิทจนมองไม่เห็นลายมือของตนเอง รอบตัวมีแต่เสียงสัตว์ร้อง อาหารก็ไม่มี ต้องเก็บลูกไม้ฉันเป็นอาหาร จำพรรษาครั้งหนึ่งๆ อย่างน้อย 90 วัน บางทีอยู่เป็นปีไม่ได้ออกจากหุบเขา ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันหรือรอยเท้ามนุษย์ ท่านต้องผจญมารในรูปแบบต่างๆ ที่คอยมาก่อกวน บางครั้งก็แทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อค้นพบสัจธรรม บางครั้งท่านไปอยู่ที่วัดพะโคะบ้าง ที่กระทิงผาบ้าง แต่อยู่ไม่นานก็กลับมาบำเพ็ญเพียรที่นี่อีก รวมเวลา 4 ปี ท่านรู้สึกว่า “นั่นแหละสุขที่สุด คือการได้บำเพ็ญพรตที่ดี จะต้องไม่มีห่วง และไม่ได้มีตำแหน่งเป็นอะไรเลย”

  ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ทวดได้ไปอยู่ที่ คาบสมุทรเกาะแก้วพิสดาร  จังหวัดภูเก็ต สมัยนั้นเรียกว่าหนองภูเก็ต อยู่ที่หนองภูเก็ตเป็นเวลา 10 ปี อยู่ที่เกาะแก้วพิสดาร 5 ปี เกาะแก้วพิสดารนั้นล้อมรอบด้วยทะเล มีพวกชาวทะเลอยู่ไม่กี่ครอบครัว และเต็มไปด้วยโจรสลัด ท่านปลูกมันกับถั่วเลี้ยงตัวเอง นานๆ จึงจะได้อาหารจากพวกโจรสลัดมาถวายทีหนึ่ง การใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลคนเดียว ทำให้จิตท่านยิ่งแข็งแกร่ง สงบ และมีสติพร้อม ท่านให้ข้อคิดว่า คนเราควรอยู่วิเวกในที่มีอันตราย ในที่ขัดสน หรือในที่ที่เต็มไปด้วยไข้ชุกชุม นั่นแหละจิตจึงมุ่งไปสู่วิมุตติได้ แต่ถ้าท่านอยู่ในที่สบาย ท่านก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นของจิตได้มาก ไม่อย่างนั้นเขาจะต้องเข้าป่าวิเวกทำไม

  เมื่อหลวงปู่อยู่ที่คาบสมุทรเกาะแก้วพิสดารได้ 10 กว่าพรรษา ก็ได้ตั้งสัจจะว่า ถ้ามิสามารถเดินข้ามผิวน้ำไปสู่หนองภูเก็ตแล้ว ก็ขอให้ตายอยู่ในเกาะแก้วพิสดาร ด้วยสัจจะ ขันติ วิริยะ อุตสาหะ และฉันทะ กอปรกับกุศลแห่งบุญบารมีที่สะสมมาในอดีตชาติ ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 พ.ศ. 2198 หลวงปู่ทวดได้จิต บรรลุ

  อนาคตังสญาณ  ณ เกาะแก้วพิสดาร จึงได้ตั้งปณิธานที่จะสร้างวัดขึ้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสำเร็จของการบำเพ็ญนี้

สร้างวัดช้างให้

  เมื่อหลวงปู่จาริกมาถึง จ.ปัตตานี ก็นั่งสมาธิไปบนหลังช้างเพื่อหาที่สร้างวัด คือให้ช้างเดินไปเรื่อยๆ หากช้างร้องที่ไหนก็สร้างวัดที่นั่น ช้างที่ท่านนั่งมาร้องตรงที่สร้างวัดช้างให้ในปัจจุบัน และจึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดช้างให้”  อันหมายถึง วัดที่ช้างชี้ให้สร้างตรงนี้ หลวงปู่ทวดกับสามเณรพรซึ่งมาอยู่กับท่านตอนที่จะสร้างวัดช้างให้นี้ได้ช่วยกันสร้างวัด โดยเริ่มแรกสร้างด้วยไม้ มุงด้วยจากก่อน แล้วจึงค่อยๆ บูรณะเรื่อยมา

  หลวงปู่ทวดอยู่ที่วัดช้างให้ได้ 2 ปี ก็ธุดงค์ต่อไปยังเมือง ไทรบุรี  (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศมาเลเซีย) ที่นั่นชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” หลวงปู่เลือกบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าลึก ซึ่งเป็นป่าช้าช้าง วันแรกเมื่อปักกลดลงไปนั้น ปรากฏช้างมาล้อมท่านเต็มไปหมดท่าน จึงส่งกระแสจิตไปว่า “ถ้าข้าสามารถบำเพ็ญจิตสำเร็จในด้านจิตวิญญาณที่จะเป็นคนกู้ศาสนาได้ ก็ขอให้ช้างกราบข้าซี”  ท่านสอนลูกศิษย์ว่า คนเรามันต้องอย่าถอย แล้วก็ต้องแผ่เมตตาด้วย

  จากนั้น ท่านได้เดินทางต่อไปยังกลันตัน จากนั้นธุดงค์ต่อไปยังที่ เขาอีโปห์  (ปัจจุบันอยู่ในรัฐเปรู ประเทศมาเลเซีย) และใช้เป็นที่บำเพ็ญเพียรแห่งสุดท้าย และได้ทิ้งสังขารที่เขาอีโปห์นั่นเอง ในวัยร่วม 100 ปี

ปัจฉิมวัย

  ขณะเมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน และได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่าหากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย ขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากที่ท่านได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ปวงศาสนิกก็นำพระศพมาไว้ที่วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ตามพระประสงค์

  ตลอดชีวิตนับตั้งแต่ท่านออกบวชจนสิ้นสังขารไปจากโลกมนุษย์ ท่านใช้จีวรเพียง 4 ชุดเท่านั้น ครองซึ่งความสมถะ ทรงศีลวิสุทธิธรรม และปัญญาญาณอันล้ำเลิศ กอปรด้วยกฤษดาภินิหาร และปาฏิหาริย์ ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่สถานที่ใด ที่นั่นจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะจาริกไป ณ ที่ใด ก็จะมีคนกราบไหว้ฟังธรรม

  หลักการปฏิบัติของท่านเป็นหลักสำคัญของพระโพธิสัตว์คือ ช่วยเหลือประชาชน และเผยแพร่ธรรมะให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ สมดังคำว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” อันหมายถึง “ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก” ตลอดไป

หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!