พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์
เทวดาเมืองคอน เทพเจ้าแห่งแดนใต้
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (คล้าย จนฺทสุวณฺโณ) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า“พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขัน และวัดพระธาตุน้อย จังหวัดนครศรีธรรมราช ฉายาที่ได้มาจากศิษยานุศิษย์อันเนื่องมาจากความศักดิ์สิทธิ์ของวาจา ท่านพูดอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้น
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ นามเดิมว่า “คล้าย สีนิล” เกิดเมื่อวันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2417 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด ที่บ้านโคกทือ ตำบลช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอินทร์ นางเหนี่ยว สีนิล มีพี่สาว 1 คน
ท่านเป็นคนที่มีอุปนิสัยมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดา และครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพ เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย นิสัยอ่อนโยน จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ครูอาจารย์และญาติมิตรเป็นอันมาก
เริ่มเรียนหนังสือศึกษาเบื้องต้นที่บ้านตั้งแต่ 10 ขวบ โดยบิดาเป็นผู้สอนวิชาคำนวณ และอักษรโบราณ จนอ่านออกเขียนได้ ชำนาญทั้งหนังสือไทยและขอม ต่อมาศึกษาต่อในสำนักนายขำ ที่วัดทุ่งปอน บ้านโคกทือ จนจบหลักสูตร และได้ไปฝึกหัดเล่นหนังตะลุงกับนายทองสาก ด้วยเป็นมีหน้าตาดี น้ำเสียงไพเราะ จึงมีคนติดใจการเล่นหนังตะลุงของท่านเป็นอันมาก
เมื่ออายุ 15 ปี พ่อท่านคล้ายประสบอุบัติเหตุจากการถางป่าทำไร่ กระดูกปลายเท้าสามนิ้วแตกละเอียด รักษาไม่หาย แต่ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว พ่อท่านคล้ายได้ใช้มีดตัดปลายเท้าออกด้วยตัวเอง และใช้ยาพอกจนหายเป็นปกติ
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
เมื่ออายุ 19 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร สามารถท่องพระปาฏิโมกข์ (คัมภีร์ที่รวมวินัยของสงฆ์ 227 ข้อ) ได้แม่นยำตั้งแต่ยังเป็นเณร
ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2439 ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ อุทกุกเขปสีมา (ศาลาน้ำ) วัดวังม่วง ได้รับฉายาว่า จันทสุวัณโณ แล้วไปจำพรรษา อยู่ที่วัดจันดี (ทุ่งปอน) ตำบลหลักช้าง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ่อท่านคล้ายเข้าศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เรียนมูลกัจจายนะ (การเรียนต้นเค้าของภาษาบาลี) ในสำนักพระครูกาแก้ว (ศรี) ณ วัดหน้าพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่เป็นเวลา 2 พรรษา จนจบหลักสูตร พอแปลบาลีได้ จากนั้นก็ได้ไปศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ควบคู่กันกับวิชาโหราศาสตร์ กับพระ
อาจารย์ต่างๆ ในย่านจังหวัดนครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี และสงขลา และเจริญวิปัสสนากรรมฐานติดต่อกันมาโดยมิได้ประมาท
ในปี พ.ศ.2448 พระปลัดคง เจ้าอาวาสวัดสวนขัน ลาสิกขาบท พ่อท่านคล้ายจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ในปี พ.ศ.2500 มีการสร้างถนนผ่านกลางวัดจันดีหรือวัดทุ่งปอน ทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ประชาชนได้ประชุมตกลงสร้างวัดใหม่ในเนื้อที่ที่แยกออกไป เรียกว่า “วัดพระธาตุน้อย” และแต่งตั้งให้พระครูพิศิษฐ์อรรถการ หรือท่านพ่อคล้ายเป็นเจ้าอาวาสอีกแห่ง จนคนทั่วไปเรียกว่า “วัดพ่อท่านคล้าย”
ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ทั้งสองวัด ตราบจนมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2513 สิริอายุ 96 ปี 74 พรรษา
หลังมรณภาพ เมื่อบำเพ็ญกุศลครบ 100 วัน สรีระของท่านถูกบบรรจุไว้ในโลงแก้วประดิษฐานอยู่ในองค์พระเจดีย์ที่ “วัดพระธาตุน้อย” เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้จวบจนปัจจุบัน
พระนักพัฒนา
งานพัฒนาด้านศาสนา
นอกจากเป็นที่พึงและศูนย์รวมใจของคนในแถบจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีแล้ว พ่อท่านคล้าย ยังเป็นพระนักพัฒนา สร้างวัดพระเจดีย์ พระพุทธรูป และร่วมกันในการปฏิสังขรณ์บูรณะศาสนสถานเป็นจำนวนมาก
หากนั่งรถไฟเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ก่อนขบวนรถจะถึงสถานีคลองจันดี ท่านจะมองเห็นพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ พระเจดีย์แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้คนแถวนั้น โดยในปี พ.ศ.2505 นายกลับ งามพร้อม อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง ได้ยกที่ดินโคกไม้แดง เนื้อที่ 40 ไร่ ใกล้สถานีรถไฟคลองจันดีประมาณ 1 กิโลเมตร ถวายพ่อท่านคล้ายโดยมอบให้เป็นที่ธรณีสงฆ์
ท่านได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 27 เมตร สูง 70 เมตรขึ้นในที่ดินแปลงนี้ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่นายประคอง ช่วยเพ็ชร ถวายมาจากกว๊านพะเยา (ปัจจุบันเป็นจังหวัดพะเยา) โดยยึดรูปแบบมาจากวัดพระมหาธาตุทั้งหมด ทุนรอนในการก่อสร้างได้มาจาก พ่อค้า คหบดี ข้าราชการ และประชาชน แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นพระเป็นศูนย์รวมจิตใจผู้คนแทบนั้นได้เป็นอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้นำในการสร้างวัดมะปรางงาม ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2490) วัดพิศิษฐ์อรรถราม อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2500) และวัดที่สำคัญที่สุดคือวัดพระธาตุน้อย (พ.ศ.2500) ดังที่กล่าวมาข้างต้น
นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้างพระเจดีย์ไว้หลายองค์ เช่น เจดีย์วัดสวนขัน เจดีย์บ้านควนสวรรค์ เจดีย์วัดยางค้อม ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เจดีย์วัดสวนขัน และเจดีย์หน้าถ้ำขมิ้น ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
งานด้านพัฒนาท้องถิ่น
พ่อท่านคล้ายจัดได้ว่าเป็นพระนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ตลอดชีวิต ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากงานด้านศาสนาแล้ว ท่านยังทำงานพัฒนาชุมชน สร้างถนน สะพานมากมายด้วย เช่น การสร้างถนนเข้าวัดจันดี ถนนจากตำบลละอายไปพิปูน ถนนจากวัดสวนขันไปยังสถานีรถไฟคลองจันดี ถนนจากตำบลละอายไปนาแว ถนนระหว่างหมู่บ้านในตำบลละอาย สะพานข้ามคลองคุดด้วนเข้าวัดสวนขัน สะพานข้ามแม่น้ำตาปีจากตลาดทานพอไปนาแว สะพานข้ามคลองเสหลา หน้าวัดมะปรางงา สะพานข้ามคลองจันดี เป็นต้น
เหล่านี้ล้วนเสร็จสมบูรณ์ลงได้ก็เพราะเมตตาบารมีของท่านและความเคารพศรัทธาของศิษย์และประชาชนที่มีต่อตัวท่านนั้นเอง
เมตตาและวาจาสิทธิ์
แม้คนที่ไปนมัสการพ่อท่านคล้ายหวังที่จะได้วัตถุมงคล บ้างขอน้ำมนต์ ชานหมาก แหวน ผ้ายันต์ เหรียญ รูปหล่อ รูปพิมพ์ ซึ่งพ่อท่านคล้ายก็จะเมตตาให้กับทุกคน แต่คงไม่มีสิ่งใดล้ำค่าไปกว่าพร “ขอให้เป็นสุข เป็นสุข" ที่ท่านมักจะให้ทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยอารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกราย ล้วนแต่พบความวิบัติ ด้วย “วาจา” จากปากของท่านเป็นราวการพยากรณ์ที่แม่นยำทั้งในทางดีและทางเสื่อมเสีย
พ่อท่านคล้ายเป็นพระที่มีคุณธรรมเป็นอริยทรัพย์ในตัว มีปัญญาวุฒิ เฉียบคม ทันคน
แม้แต่สมเด็จพระสังฆราช อยู่ ญาโณทโย ยังถึงกับทรงเอ่ยปากว่า
เมื่อพูดถึงหลวงพ่อคล้ายแล้ว ท่านไม่ใช่คนธรรมดา อาจเป็นเทวดาก็ได้