หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง
อมตะนักรบธรรมของชาวไทย
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ พระมหาเถระ ผู้เป็น “อมตะอริสงฆ์แห่งแผ่นดินสยาม” ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์แห่งยุค ศิษย์เอกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระป่าผู้เป็นเอกทางการปฏิบัติกรรมฐาน ผู้ดำเนินตนอยู่ในเพศของบรรพชิตมาตั้งแต่อายุเยาว์วัย เป็นทั้งพระนักศึกษาและนักปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด บริบูรณ์พร้อมด้วยศีลาจารวัตร หลวงปู่เคยเป็นพระสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกาย และฝ่ายธรรมยุต ท่านเคยกล่าวเตือนสติสาธุชนไว้ว่า “มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย”
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เดิมชื่อ ญาณ หรือ ยาน รามศิริ พื้นเพเป็นคนจังหวัดเลย เกิดวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2430 วันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน
ต้นธารแห่งอมตะนักรบธรรมนิรันดร์กาล
ในขณะที่เด็กชายญาณอายุได้ 5 ขวบ ท่านพอจำได้ว่าก่อนมารดาเสียชีวิตได้สั่งเสียไว้ว่า “แม่จะยินดีมาก ถ้าลูกจะบวชให้แม่จนตายในผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีเมียนะลูกนะ”
หลังจากนั้นมารดาได้ถึงแก่กรรมลง ท่านจึงอยู่ในความดูแลของตากับยาย ยายเห็นว่าเด็กชายญาณนี้จะมีอุปนิสัยวาสนาในทางบวช ยายจึงเอ่ยปากของให้บวชตลอดชีวิต “ยายขอให้เจ้าบวชตลอดชีวิต และขอให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีลูกมีเมียเจ้าจะทำได้ไหม”
ด้วยคำพูดของแม่และยาย เป็นเหมือนพรจากสวรรค์ คอยเตือนสติก้องอยู่ในความทรงจำมิรู้เลือน จนในที่สุดท่านก็ได้บวชตามความประสงค์ของมารดา และใช้ชีวิตอยู่ในผ้าเหลืองจนตลอดอายุขัย
หลวงปู่แหวน ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. 2439 อายุได้ 9 ปี ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านนาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “แหวน”
อยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์ชัยแต่ที่นั่น ท่านยังไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไร เพราะไม่มีครูสอน มีเพียงสวดมนต์บ้าง เล่นบ้างตามประสาเด็ก พระภิกษุอ้วนผู้เป็นอา จึงพาสามเณรแหวนมาฝากตัวกับพระอาจารย์สิงห์ (ศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น) เพื่อขอศึกษาบาลี นักธรรม เรียนมูลกัจจายน์ ด้วยว่าสำนักแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีพระเณรจากหัวเมืองต่างๆ ในอีสานเดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์มากมาย
เพียงแรกเห็น พระอาจารย์สิงห์ก็ถึงกับรำพันว่า “นี่คือ ช้างเผือกแก้วเกิดในป่าแน่แล้ว” ด้วยพินิจพิจารณาเห็นสามเณรน้อยรูปร่างผิวพรรณเกลี้ยงเกลาขาวสะอาด นัยน์ตาสุกใสบริสุทธิ์ ท่าทางสมถะ สำรวม มีสง่าราศี อย่างประหลาด
สามเณรแหวนจัดเป็นพระผู้ถือเคร่งในพระธรรมวินัย ปฏิปทาจริยาวัตรงดงาม พูดน้อย ชอบใช้ความคิดเงียบขรึม รักสงบ ไม่ชอบอยู่รวมกับหมู่คณะ มักจะหาโอกาสปลีกวิเวก แยกตนออกไปนั่งในที่สงัดนอกวัดเสมอ จนพระอาจารย์สิงห์ออกปากว่า สามเณรน้อยผู้นี้กล้าหาญมาก มีจิตใจองอาจไม่กลัวอะไรเลย เป็นมหานิกายที่เคร่งเหมือนธรรมยุติ...ฉันอาหารมื้อเดียว ชอบฉันข้าวกับเกลือ พริก และผัก ไม่ฉันเนื้อสัตว์ และตื่นตี 3-4 เป็นประจำ ถ้าคืนไหนไม่ได้ออกไปนั่งสมาธิในป่าช้า ก็จะลงไปเดินจงกรมใกล้กุฏิประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วกลับขึ้นกุฏินั่งสมาธิ
หลังจากฉันอาหารเช้าวันหนึ่ง พระอาจารย์สิงห์มีเมตตาไตร่ถามสามเณรแหวนว่า ชอบกรรมฐานมากหรือจัวน้อย (จัว น้อยเป็นคำอีสานหมายถึงสามเณร) สามเณรแหวนยกมือพนมแล้วตอบว่า “กระผมชอบความเงียบสงัด ชอบพิจารณาต้นไม้ใบหญ้าแล้วคิดเปรียบเทียบกับชีวิตและสัตว์ แล้วเห็นว่าธรรมชาติต้นไม้ใบหญ้านี้คล้ายกับชีวิตของคนเรา มีการเกิด มีดับ หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย” พระอาจารย์สิงห์ได้ฟังแล้วก็อัศจรรย์ อุทานในใจว่า เณรน้อยผู้นี้มีอารมณ์วิปัสสนาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สอน มีปัญญาเห็นแจ้งซึ่งสภาวะธรรม คือ เห็นชาติ ชรา มรณะ เริ่มเห็นมรรค ผล นิพพาน ได้รำไร
แม้จะฝักใฝ่เพียงในการปฏิบัติธรรม มุ่งวิมุติธรรมเพียงเท่านั้น แต่เมื่อพระอาจารย์สิงห์สอนวิชาไสยวิทยาคมให้ พระแหวนก็ร่ำเรียนไว้ เพราะคิดว่าน่าจะไว้ใช้ช่วยสงเคราะห์ปัดเป่าความทุกข์ให้ชาวบ้านยามได้รับทุกขเวทนา และไม่สามารถหาที่พึ่งทางใจได้
หลวงปู่แหวนท่านเล็งเห็นวิชาไสยนั้นเป็นโลกียวิชชาที่สามารถทำให้ขลังได้ แต่ก็เสื่อมได้ ไม่คงทนถาวร หากมุ่งบำเพ็ญเพียรกรรมฐานจนได้ธรรมขั้นสูง บำเพ็ญเพียรสมาบัติจนได้อภิญญา วิชาไสยก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพียงนิ่งอธิษฐานจิต เอาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณมาบำบัดปัดเป่าทุกข์โศก ภัยอันตรายก็จะผ่อนคลายสำเร็จประโยชน์
กระทำตนเป็นอนาคาริก
หลังอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกายได้ไม่นาน พระภิกษุอ้วนผู้เป็นอาก็ได้เดินทางมารับภิกษุแหวนกลับไปอยู่ที่วัดโพธิชัยบ้านนาโป่ง บ้านเกิด แต่เมื่อพระภิกษุแหวนไปถึง กลับไม่ยอมจำพรรษาที่วัด ท่านเข้าไปกราบหลวงปู่คำมา เจ้าอาวาส ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร แล้วเข้าไปกราบพระประธานในโบสถ์ จากนั้นก็ได้ไปยึดเอาโคนต้นไม้ในป่าช้าใกล้หมู่บ้านเป็นที่พำนัก
นับจากนั้นพระแหวนก็กระทำตนเป็น อนาคาริก คือเป็นผู้ไม่มีอาคารบ้านเรือน ตัดจากทางโลกโดยเด็ดขาด ไม่มีวัดวาอารามเป็นที่พำนัก ใช้ถ้ำ เงื้อมหินเป็นที่อยู่ที่อาศัย ร่อนเร่เที่ยวในดินแดนสงบสงัด เพื่อปฏิบัติธรรมทำความเพียรเป็นสำคัญ
ขณะนั้นภิกษุแหวนมีอารมณ์จิตใฝ่กรรมฐานเต็มที่ และ ตั้งสัจจาธิษฐาน ขออุทิศชีวิตพรหมจรรย์แด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้จะยังไม่เคยเรียนกรรมฐานจริงจัง ทราบเพียงหลักกว้างๆ เท่านั้น
เมื่อพักอยู่ที่ป่าช้าบ้านนาโป่งไม่นาน หลวงปู่แหวนก็ตัดสินใจจะตัดขาดจากญาติโยมให้เด็ดขาด หมายออกธุดงค์กรรมฐานไปตามทางของตนเพียงลำพัง เพื่อแสวงหาวิมุติสุข ทางหลุดพ้นจากกองทุกข์ เพราะคิดขึ้นมาว่าการออกปฏิบัติจะเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้บวชอยู่ได้ตลอดชีวิต เหมือนกับครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ได้ออกไปปฏิบัติอยู่กันตามป่าเขา ไม่อาลัยอาวรณ์อยู่กับหมู่คณะ
แม้ญาติโยมทั้งหลายจะไม่เห็นดีเห็นงามด้วย เพราะเห็นว่าเป็นพระธุดงค์มีแต่ความยากลำบาก อดๆ อยากๆ แต่พระภิกษุแหวนก็ไม่ยอม ได้ชี้แจงเหตุผล จนญาติโยมและชาวบ้านใจอ่อนยินยอมอนุโมธนาสาธุด้วย
ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น แม่ทัพแห่งนักรบธรรม
พระแหวนมักธุดงค์ไปตามลำพัง ร่างกายและจิตใจเคี่ยวกรำต่อความยากลำบากนานาประการ จนกระทั่งกลายเป็นปกติ ยิ่งอดอยากลำบากเท่าไร ก็ยิ่งขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงเท่านั้น ความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมก็ค่อยๆ ผุดขึ้นมาทีละข้อๆ
การธุดงค์ไปตามป่าทำให้ท่านได้มีโอกาสเจอพระธุดงค์ ซึ่งส่วนมากมักเป็นศิษย์สายพระอาจารย์มั่น เมื่อได้ยินคำยกย่องในศีลาจารวัตรที่เคร่งครัดของหลวงปู่มั่น พระแหวนก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นยิ่งนัก ตั้งใจจะติดตามหาเพื่อถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นให้จงได้
ด้วยเส้นทางธุดงค์ของพระอาจารย์มั่นไม่แน่นอน แต่พระแหวนก็ธุดงค์ตามหาไปเรื่อยๆ อย่างไม่ย่อท้อ และนั่นนับเป็นการเดินทางไกลและยาวนานเป็นครั้งแรกของท่าน จนได้เข้าพบหลวงปู่มั่นที่ดงมะไฟ บ้านค้อ จังหวัดชัยภูมิ และถวายตัวตนเป็นศิษย์
คำแรกที่หลวงปู่มั่นสั่งสอนก็คือ “ต่อไปนี้ให้ภาวนา ความรู้ที่เรียนมา ให้เอาใส่ตู้ไว้ก่อน” ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกยินดีมาก เพราะเห็นสอดคล้องว่าจะหนทางสู่การบรรลุธรรม
เมื่อรับการอบรมการเจริญภาวนาจากพระอาจารย์แล้ว หลวงปู่แหวนก็จะแยกไปหาที่วิเวก บำเพ็ญสมาธิตามความเหมาะสมกับจิตของตน เมื่อถึงวันอุโบสถจึงได้ถือโอกาสเข้านมัสการถามปัญหาข้อข้องใจในการปฏิบัติจากหลวงปู่มั่นจนเป็นที่เข้าใจแล้ว จึงกลับสู่ที่ปฏิบัติของตนดังเดิม โดยยึดมั่นในคำเตือนของหลวงปู่มั่นว่า “ให้ตั้งใจภาวนา อย่าได้ประมาท ให้มีสติอยู่ทุกเมื่อ จงอย่าเห็นแก่การพักผ่อนหลับนอนให้มาก”
ในปี พ.ศ.2461 ท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้าน ชาวบ้านแถบถิ่นนั้นหลั่งไหลมากราบกันไม่ขาดสาย ด้วยรู้สึกศรัทธาในตัวท่าน จนทำให้ล้มป้วยเนื่องจากพักผ่อนไม่พอ ต้องพักรักษาตัวอยู่หนึ่งเดือนเต็มๆ
ด้วยจิตที่ระลึกถึงคำสั่งของพระอาจารย์ว่า “อย่าอยู่นานให้รีบกลับมาภาวนา” กับคำสั่งเสียของแม่ที่ดังก้องในใจอีกครั้งว่า “แม่ยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ แล้วก็ให้ตายกับผ้าเหลือง” ทำให้ท่านตัดสินใจรีบเดินทางกลับไปธุดงค์ในราวเข้าป่าอีกครั้ง
ใช้ “สติ” และ “พุทธคุณ” เป็นเครื่องนำทาง
หลังออกธุดงค์ออกจากบ้านเกิดครั้งนั้น หลวงปู่แหวนได้จาริกไปทั่วอีสาน ข้ามไปฝั่งลาว ภาคเหนือตอนบน อยู่บนดอยสูงกับชาวเขามาแล้วเกือบทุกเผ่า ภาคเหนือตอนกลางบางส่วน รวมทั้งการจาริกไปยังประเทศอินเดีย พม่า และเชียงตุง หลังจากได้รับฟังธรรมและเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย พม่า และเชียงตุง จากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ซึ่งหลวงปู่มั่นยกย่องอยู่เสมอว่าเชี่ยวชาญทั้งทางการเทศน์และการปฏิบัติธรรม และกลับมาที่จังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง และนับจากนั้น ท่านก็ไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย
ภายหลังเมื่อหลวงปู่มั่นเดินทางกลับอีสานแล้ว หลวงปู่แหวนยังคงจาริกแสวงวิเวกบำเพ็ญธรรมอยู่ป่าเมี่ยง แม่สาย หลวงปู่เล่าว่า อากาศทางภาคเหนือถูกแก่ธาตุขันธ์ดี ฉันอาหารได้มาก ไม่มีอาการอึดอัด ง่วงซึม เวลาภาวนาจิตก็รวมลงสู่ฐานสมาธิได้เร็ว นับว่าเป็นสัปปายะ
การธุดงค์ในป่าทำให้หลวงปู่แหวนพบเจอประสบการณ์แปลกประหลาดเหลือเชื่อมากมายทั้งที่อธิบายได้ และยากจะอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ แต่หาได้ทำให้หลวงปู่หวั่นไหวไม่ ใช้เพียง “สติ” และ “พุทธคุณ” ในการเผชิญหน้ากับความไม่รู้ และค้นหาความจริง หลายครั้งก็ได้เทศน์โปรดสัตว์โลกด้วยเมตตาจิตเสมอมา
ขณะธุดงค์อยู่ในป่า บ่อยครั้งที่พระแหวนได้เมตตารักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับชาวบ้าน ซึ่งส่วนมากมักป่วยเป็นไข้ป่า ท่านจะสงเคราะห์ช่วยเหลือทุกคนด้วยความเมตตาจิต บ่อยครั้งที่ท่านไม่มียาสมุนไพรอะไรติดตัว สิ่งที่ท่านใช้ในการเยียวยามีเพียง พุทธบารมี บางครั้งชาวบ้านให้ท่านทำน้ำพระพุทธมนต์ให้ ท่านก็เพียงอธิษฐานจิตขออำนาจบารมีองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า พระรัตนตรัยได้โปรดเมตตาอภิบาลต่อสัตว์โลกเหล่านี้ จนชาวบ้านพากันร่ำลือกันว่าท่านมีวิชาอาคม ส่วนคนป่าก็คิดว่าท่านเป็นหมอผี
หลวงปู่แหวนทราบดีว่าการจะพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจได้ในระยะเวลาอันสั้นเป็นเรื่องยาก แต่เพราะความเชื่อถือศรัทธาของชาวบ้าน ชาวเขา ชาวป่า ท่านก็จะถือโอกาสนี้ในการเทศนาธรรม สอนให้ยึดศีล 5 นำไปปฏิบัติ
แต่ท่านก็ไม่เคยอยู่ที่ไหนนาน เพราะมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะปฏิบัติวิเวกภาวนาขัดเกลากิเลสที่สั่งสมอยู่ในจิตใจมาหลายภาพหลายชาติ
วัดดอยแม่ปั๋ง... เรือนตายเพื่อปฏิบัติธรรม
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา ในวัย 75 ปี หลวงปู่แหวนยังคงร่อนเร่ธุดงด์ จาริกแสวงหาวิเวกจนมาถึงวัดดอยแม่ปั๋ง พระอาจารย์หนูแห่งวัดดอยแม่ปั๋ง เห็นว่าหลวงปู่แหวนชราภาพมากแล้ว ไม่มีผู้อุปัฏฐาก จึงได้ชักชวนท่านมาจำพรรษาที่วัด
หลวงปู่แหวนรับคำ แต่มีเงื่อนไขว่าท่านจะไปในฐานะพระผู้เฒ่าทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมอย่างเดียวไม่ต้องเกี่ยงข้องกับภาระหน้าที่อื่นใด
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา หลวงปู่แหวนก็ได้ปฏิบัติภาวนาอยู่ที่วัดวัดดอยแม่ปั๋ง โดยยึดเป็นเรือนตาย และได้ตั้งสัจจะไว้ว่าจะไม่รับนิมนต์ ไม่ขึ้นรถ ไม่ลงเรือ แม้ที่สุดจะเกิดอาพาธหนักเพียงใด ก็จะไม่ยอมเข้านอนโรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่...แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามที่ตั้งใจไว้
ในวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เวลา 21.53 น. หลวงปู่แหวนได้ละร่างอันเป็นขันธวิบากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 98 ปี
แม้ชีวิตร่างกายของท่านได้ดับสลายไป แต่คุณงามความดีของท่านยังตรึงแน่นอยู่ในจิตสำนึกของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย ด้วยเพราะท่านเป็นพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบในฐานะพุทธชิโนรส เป็นเนื้อนาบุญของผู้ต้องการบุญในโลกนี้