หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ภิกษุผู้มีศรัทธาอันแน่วแน่มั่นคง
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หรือ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ พระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระ สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระบวรพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น
ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์เอกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้มีความมุ่งมั่น และศรัทธาอย่างแรงกล้าในการศึกษาธรรมะให้ลึกซึ้ง โดยไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบาก
ปฐมวัย บรรพชาและอุปสมบท
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มีนามเดิมว่า เทสก์ เรี่ยวแรง เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2445 ในครอบครัวชาวนา ที่บ้านสีดา ต.กลางใหญ่ จ.อุดรธานี แต่ครอบครัวต้องหนีความทุกข์ยากมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนางิ้ว อ.บ้านผือ จ. อุดรธานี
เมื่ออายุ 16 ปี เจ้าคุณพระญาณวิสิษฏ์ สมิทธิวีรจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม) ได้เดินรุกขมูล มาถึงวัดบ้านนาสีดา ซึ่งเป็นวัดที่นายเทสก์อุปัฏฐากอยู่ จึงได้มีโอกาสปฏิบัติพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม แต่เนื่องด้วยวัดเป็นป่าทึบไข้ มาลาเรียชุกชุม พระอาจารย์สิงห์เป็นไข้อยู่ไม่ได้จึงได้ออกไปจำพรรษาที่อื่น และได้ชักชวนนายเทสก์ไปจำพรรษากับท่าน
เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์สิงห์ได้กลับเมืองอุบลฯ ซึ่งเป็นถิ่นเดิมของท่าน หลวงปู่ก็ได้ติดตามไปด้วย โดยก่อนนายเทสก์ได้เอาดอกไม้ธูปเทียนใส่ขันแล้วไปขอขมาโทษผู้เฒ่าผู้แก่ที่คุ้นเคย ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ให้ศีลให้พรให้สำเร็จตามความปรารถนาทุกประการ
หลวงปู่เทสก์ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ รอนแรมไปในป่า บางครั้งต้องผจญกับไข้ป่า ต้องพักนอนตามร่มไม้จนไข้สางแล้วจึงเดินต่อ พร้อมกระทำความเพียรภาวนาไปในตัว เป็นเวลาเดือนกว่าจึงถึงเมืองอุบลราชธานี จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปีที่มีอายุครบ 20 และวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และจำพรรษาอยู่ที่นั่น
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ในปีนั้นเอง พระอาจารย์สิงห์ฯ ได้กลับมาจำพรรษาที่เมืองอุบลฯ พร้อมด้วยพระอีกหลายรูปด้วยกัน จึงได้มีโอกาสตามธุดงค์ไปกับพระอาจารย์สิงห์ อีกครั้ง เป็นการเดินไปในที่ต่างๆ ตัดลัดป่าดงมูล และดงลิงซึ่งเลื่องลือในสมัยนั้นว่าเป็นป่าช้าง ดงเสือ ได้ผจญอันตรายและความยากลำบากต่างๆ จนกระทั่งเดินทางถึงบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และได้พบกับท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้ออกธุดงค์ เดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วประเทศไทยด้วยตัวของท่านเอง
เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่ก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์นั้นเอง ในปีนั้น พระอาจารย์สิงห์ฯ ได้กลับมาจำพรรษาที่เมืองอุบลฯอีก ออกพรรษาแล้วจึงได้ออกเดินรุกขมูลไปในที่ต่างๆ พร้อมกับพระอีกหลายรูป ภิกษุเทสก์ได้ออกธุดงค์ตามไปด้วย เดินตัดลัดป่าดงมูลและดงลิงซึ่งเลื่องลือในสมัยนั้นว่าเป็นป่าช้า ดงเสือ ต้องผจญภัยอันตรายและความยากลำบากต่างๆ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูลอย่างแท้จริง
จนกระทั่ง เดินทางถึงบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้มีโอกาสพบท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้เข้าฟังธรรมเทศนา เรียนรู้วิถีปฏิบัติของพระป่า และศึกษาธรรมะจากพระอาจารย์ทั้งสอง และได้พักอยู่กับท่าน 2-3 คืน จนรู้สึกใจสงบสบาย มีกำลังจิตกำลังใจในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความเพียรอย่างยิ่ง
ในปีนั้นหลวงปู่เทสก์ได้ทำความเพียรอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ภาวนาตลอดวันค่ำคืนรุ่ง พร้อมกับการผ่อนการฉันอาหารให้น้อยที่สุดคือ ทำคำข้าวเหนียวเป็นคำๆ จาก 60 คำ ลดลงมาโดยลำดับจนถึง 3 คำ ฉันอยู่ 3 วัน แล้วก็เพิ่มขึ้นโดยลำดับถึง 5 คำ 5 วัน 10 คำ 10 วัน และฉันวันละ 15 คำ อยู่ 3 เดือน กับข้าวก็มีแต่พริกกับเกลือเท่านั้น แต่ก็ปฏิบัติกิจบิณฑบาต ปัดกวาดลานวัด และหาบน้ำ ตลอดถึงอาจาริยวัตรไม่ขาดสักวัน จนกระทั่ง เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่มั่นได้เรียกตัวให้ไปพบเพื่อกิจของสงฆ์บางอย่าง หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ไม่ได้กลับไปจำพรรษากับพระอาจารย์สิงห์อีก
หลวงปู่ได้ออกธุดงค์ เผยแผ่ศาสนา ช่วยเหลือชาวบ้านเรื่อยมา หากมีโอกาสก็จะเข้าไปสักการะบูชาและฟังเทศน์จากพระอาจารย์มั่นเสมอ
ในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นพรรษาที่ 11 หลวงปู่ได้อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ เมื่อออกพรรษาแล้วหลวงปู่ได้ปรารภกับพระครูสีลขันธ์สังวร (อ่อนสี) และชักชวนกันไปตามหาท่านอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นปลีกหมู่หนีความวุ่นวาย ไปอยู่จำพรรษาที่เชียงใหม่ เนื่องพระอาจารย์มั่นธุดงค์และอยู่ไม่เป็นที่ ทั้งสองได้เดินเข้าไปถึงพม่า ด้วยเส้นทางที่ยากลำบาก บ้างต้องเดินไปตามห้วยและหน้าผาชันมากจนได้เกิดอุบัติเหตุเดินพลาดก้อนหินล้มลง หินบาดฝ่าเท้าเป็นแผลเหวอะหวะ หลวงปู่ได้เอาผ้าอังสะพันแล้วเดินทางต่อไป โดยเข้าใจว่าท่านอาจารย์มั่น คงจะไปทางนั้น แต่ก็ไม่กฎวี่แววของท่าน จนได้มาเจอกับชาวบ้านบอกว่า มีตุ๊เจ้าองค์หนึ่ง อยู่ที่ป่าเมี่ยง ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ ชื่อตุ๊เจ้ามั่น หลวงปู่ได้ถามลักษณะท่าที และการปฏิบัติก็แน่ชัดว่าเป็นท่านอาจารย์มั่นแน่แล้ว จึงได้ออกเดินทางต่อไปจนเจอ
หลวงปู่และพระครูสีลขันธ์สังวรได้เข้าไปกราบนมัสการพระอาจารย์ และกราบเรียนถามอุบายธรรม ซึ่งท่านอาจารย์มั่นก็ได้เมตตาเทศนาให้หลวงปู่ฟังเป็นใจความว่า
“ถ้าองค์ไหนดำเนินตามรอยของ ผมจนชำนิชำนาญมั่นคง องค์นั้นย่อมเจริญก้าวหน้าอย่างน้อยก็คงตัวอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าองค์ไหนไม่ดำเนินตามรอยของผม องค์นั้นย่อมอยู่ไม่ทนนาน ต้องเสื่อมหรือสึกไป ผมเองหากมีภาระมากยุ่งกับหมู่คณะการประกอบความเพียรไม่สม่ำเสมอ เพ่งพิจารณา ในกายคตาสติไม่ละเอียด จิตใจก็ไม่ค่อยจะปลอดโปร่งการพิจารณาอย่าให้จิตหนีออกนอกกาย อันนี้จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ก็ อย่าได้ท้อถอยเพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ละจะพิจารณาให้เป็นอสุภหรือให้เห็นเป็นธาตุก็ได้ หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์หรือให้ เห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งนั้น แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะเรื่องนั้นจริงๆ ตลอดอิริยาบถทั้งสี่แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วก็จะหยุดเสียเมื่อไร จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว สิ่งอื่นนอกนี้จะมา ปรากฏชัดในทีเดียวกันดอก”
หลวงปู่ได้น้อมนำเอาธรรมะนั้นมาปฏิบัติตาม ใช้เวลาปรารภความเพียรอยู่ด้วยไม่ประมาทสิ้นเวลา 6 เดือน โดยไม่มีความเบื่อหน่ายใจได้รับความสงบและเกิดอุบายเฉพาะตนขึ้นมาว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันจึงต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง”
การได้อุบายครั้งนี้ทำให้หลวงปู่มีจิตหนักแน่นมั่นคงผิดปกติกว่าเมื่อก่อนมาก แล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองว่าเดินถูกทางแล้ว และได้ปฏิบัติธรรมในภาคเหนือ แถบถิ่นดอยมูเซอร์ และมาโปรดสาธุชนบริเวณ จังหวัดลำพูน จนกลับมาภาคอีสาน พำนักที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
ปี พ.ศ. 2492 ไปเดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่มั่นซึ่งอาพาธ จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหนองผือ นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และอยู่ปฏิบัติดูแลจนกระทั่งท่านพระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร
ต่อมาปี พ.ศ. 2493 ท่านไปจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ต และเผยแผ่ศาสนธรรมในภาคใต้ร่วมกับหมู่คณะ โดยพำนักที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ นานถึง 15 ปี ก่อนกลับมาพักจำพรรษาที่ถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ท่านได้เลือกวัดหินหมากเป้ง ที่ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเป็นที่พำนัก เนื่องจากบรรยากาศดีเหมาะแก่การเจริญธรรมสัมมาปฏิบัติ ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญ จนสมเด็จพระสังฏราขสกลมหาสังฆปริณายก ทรงยกย่องให้เป็น “วัดพัฒนาตัวอย่าง” และจำพรรษาที่นั่นเรื่อยมาจนละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ปี พ.ศ 2537 สิริรวมอายุได้ 93 ปี 71 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานน้ำหลวงสรงศพและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานหีบทองทึบ และทรงรับงานบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ พิธีพระราชทานเพลิงศพ และในปัจจุบันวันที่ 17 ธันวาคม ของทุกปี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะให้ผู้แทนพระองค์นำแจกันดอกไม้วางหน้าพระอัฐิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ณ วัดหินหมากเป้ง เป็นประจำทุกปี
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น อุตสาหะปฏิบัติบำเพ็ญธรรมด้วยชีวิตเป็นเดิมพัน ได้บำเพ็ญกรณียกิจเพื่อความเจริญมั่นคงแห่งพระศาสนาโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ และด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง