ครูบาศรีวิชัย
ตนบุญแห่งล้านนา ศรัทธาไม่เคยจาง
หากท่านเคยไปเชียงใหม่ เชื่อว่าคงไม่มีใครพลาดการไปกราบสักการะพระธาตุดอยสุเทพฯ ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ระยะเวลาเพียง 11 กิโลเมตร จากตีนดอย เราสามารถนั่งรถขึ้นไปเพียงไม่กี่อึดใจ แต่ลองจินตนาการถึงเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ต้องใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ในการเดินเท้าขึ้นไป เพราะต้องบุกป่าฝ่าดงขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น...เป็นการพิสูจน์ศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชน
“ถนนศรีวิชัย” ที่พาผู้คนขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพฯ สร้างขึ้นสำเร็จได้เพราะ “ครูบาศรีวิชัย” พระนักพัฒนาผู้ เป็นที่เคารพยิ่งของชาวล้านนา จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ตนบุญแห่งล้านนา” ซึ่งหมายถึง “นักบุญแห่งล้านนา” ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของผู้คนในภาคเหนือมาจนถึงทุกวันนี้
ถนนเส้นนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 ใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือน โดยอาศัยกำลังคนเป็นหลัก ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทุ่นแรงอันทันสมัยอย่างในปัจจุบัน มีเพียง “ความศรัทธา” ของชาวบ้านที่มีต่อครูบาศรีวิชัย ที่นำพาชาวเมืองเหนือจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งชาวเมือง และชาวเขาหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งจากเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พิษณุโลก ที่พากันเดินทางมาช่วยกัน บ้างถือจอบเสียมมุ่งหน้ามาลงแรงทำถนน บ้างช่วยเหลือเรื่องเงินทอง หรือส่งเสบียง เลี้ยงข้าวปลาอาหาร “ถนนศรีวิชัย” จึงถือเป็นตัวแทนความสามัคคีและพลังแห่งศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อครูบาศรีวิชัยนั่นเอง
เพื่อระลึกถึงคุณความดีของครูบาศรีวิชัยในการสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพและการบูรณะวัดต่างๆ หลายแห่งในเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่จึงได้ร่วมกันสร้าง “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย” ขึ้นบริเวณเชิงดอยสุเทพ ด้วยทองสัมฤทธิ์หล่อเท่าองค์จริงในท่ายืน เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่จนทุกวันนี้ จนหลายคนอาจคิดว่า ท่านเป็นคนเชียงใหม่ แต่แท้จริงแล้วครูบาเป็นคนลำพูน
ครูบาศรีวิชัย หรือ “อ้ายฟ้าฮ้อง” หรือ “อ้ายอินตาเฟือน” ซึ่งเป็นชื่อในวัยเด็กที่บิดาตั้งให้
เนื่องจากท่านเกิดมาในขณะที่ฟ้าร้องคำรามและพายุสายฝนกระหน่ำ พื้นเพเป็นคนบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เมื่ออายุได้ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านปาง และอุปสมบทเป็นพระ เมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ได้รับนามฉายาว่า “สิริวิชโยภิกฺขุ” หรือที่ชาวบ้านมักเรียก “ทุเจ้าสิริ” (อ่านว่า “ตุ๊เจ้าสิลิ”) ทุเจ้าหรือตุ๊เจ้า เป็นคำเรียกพระภาษาเหนือ โดยหลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ไปศึกษาวิชาสมถะกรรมฐานวิปัสสนากับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ก่อนจะกลับมาที่วัดบ้านปาง อีกครั้ง และได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสเมื่อครูบาขัติมรณภาพ
พระศรีวิชัยเป็นพระมีศีลาจารวัตรอันงดงามน่าเลื่อมใส งดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ และงดฉันเนื้อสัตว์ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียวซึ่งมักเป็นผักต้มและข้าวเท่านั้น อีกทั้งท่านยังมีเมตตาออกธุดงค์สั่งสอนหลักธรรมแก่ทั้งชาวบ้านและชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่ยังคงนับถือผีให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น พระศรีวิชัยจึงได้รับการยกย่องจากชาวเมืองและชาวเขาให้เป็น “ครูบาศรีวิชัย” ตั้งแต่อายุราว 30-40 ปีเท่านั้นเอง
คำว่า “ครูบา” นั้นเป็นคำเรียกพระเถระผู้ใหญ่ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูง มีพระหนุ่มไม่มากนักที่จะได้รับการยกย่องเช่นนี้ แต่ครูบาศรีวิชัยได้รับการยกย่องเช่นนั้นตั้งแต่ยังเป็นพระหนุ่ม
แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตสมณะของท่านก็มิได้ราบรื่นไปเสียทุกอย่าง หลังจากที่ล้านนาต้องเข้ามาอยู่ภายใต้นโยบายการปกครองจากส่วนกลาง (กรุงเทพ) ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ (เป็นคดีในหมู่สงฆ์) โดยมีสาเหตุหลักมาจากระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนาที่ขัดกับระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ จนถูกจับกุมและควบคุมตัวไปรับการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ ถึง 2 ครั้ง ยังความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอันมาก
สาเหตุเริ่มแรกมาจากการที่ครูบาศรีวิชัยได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิม ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2446) ที่ระบุว่า พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ต้องได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางเท่านั้น จนนำไปสู่ ความขัดแย้งต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
แต่จากผลการสอบสวนแต่ละครั้งปรากฏว่า สมเด็จพระสังฆราชฯ ตัดสินว่าท่านมิได้ทำผิดวินัยสงฆ์แต่อย่างใด ทำให้แรงเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้านที่มีต่อครูบายิ่งเพิ่มมากขึ้น
เมื่อท่านหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทุกกระทง และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ครั้งหนึ่ง จากการเข้าเฝ้าครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงได้ประทานส่งสมณสาส์นไปยัง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มีใจความว่า
...วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัย (14 ก.ค. 2463) ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช้ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญา พอจะประพฤติอยู่ได้อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม การตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ประกาศ ทำตามธรรมเนียมคืออุปัชฌายะของเธอ ชื่อสุมนะ เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอให้ปกครองวัดและบริษัทแทน จนถือว่าได้ตั้งมาจากอุปัชฌายะ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักไว้ เกือบไม่รู้ว่าเพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ
— สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส —
การที่ปล่อยครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับภูมิลำเนาเดิม และสามารถจะอาศัยอยู่ในวัดใดก็ได้ นับเป็นการลดความไม่พอใจของประชาชนที่นับถือท่านเป็นอย่างมาก อธิกรณ์ในช่วงระยะที่สองนี้ ยิ่งทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นที่รู้จักในสังคมเมืองมากขึ้น
แม้จะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น แต่ก็ครูบาศรีวิชัยก็ไม่เคยท้อแท้ หรือล้มเลิกการทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง หลังจากที่ท่านเป็นอิสระจากคดีความทั้งปวง ท่านได้กลับมาครองวัดบ้านปางดังเดิม และเริ่มงานใหม่ของท่าน คือการธุดงค์ไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ในภาคเหนือเพื่องานบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมมากกว่า 100 วัด โดยเริ่มจากวัดบ้านปาง ที่อำเภอลี้ บ้านเกิด ก่อนจะไปบูรณะวัดเชียงยัน ในอำเภอเมืองลำพูน ซึ่งขณะนั้นแทบจะเป็นวัดร้าง หญ้าขึ้นรก ให้กลับกลายเป็นวัดที่มีเสนาสนะมั่นคงสะอาดสะอ้านได้ในเวลาไม่กี่เดือน เนื่องจากมีชาวบ้านจำนวนมากทั้งชาวเมืองลำพูน และเชียงใหม่ รวมไปถึงชาวป่า ชาวเขา ที่เคารพศรัทธาในตัวครูบาพากันมาลงแรงลงมือ ร่วมกันบูรณะวัดเชียงยันแห่งนี้
นี่คือจุดเริ่มต้นของชื่อเสียงในการเป็นพระนักพัฒนา ผู้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเก่าแก่รกร้างให้กลับเจริญรุ่งเรือง ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน และบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัย ทุกกลุ่มชนของสังคมล้านนาต่างก็ให้ความเคารพยกย่อง และให้การช่วยเหลือสนับสนุนในด้านการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนงานเสร็จลุล่วงด้วยดีเสมอ...และนั่น ทำให้ท่านต้องเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ทั่วภาคเหนือ เพราะชาวบ้านต่างพากันมาขอร้องให้ท่านไปเป็นประธานในการบูรณะวัดหรือปูชนียสถานสำคัญต่างๆ
มิเพียงแต่การบูรณะวัดวาอารามในจังหวัดบ้านเกิด เช่น การบูรณะ วัดพระธาตุหริภุญชัย ปูชนียสถานสำคัญที่สุดของเมืองลำพูนที่ทรุดโทรมมากในขณะนั้น วัดจามเทวี ซึ่งแต่เดิมเป็นวัดร้าง วัดพระพุทธบาทตากผ้า ที่อำเภอป่าซาง ก็ได้รับการบูรณะจากวัดร้างให้กลับมาเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบัน ครูบาศรีวิชัยยังเดินทางไปบูรณะวัดในเมืองต่างๆ ทั่วภาคเหนือ เช่น วัดพระสิงห์ และ วัดสวนดอก ที่จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุม่อนไก่แจ้ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ วัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
ครูบาศรีวิชัยมรณภาพที่วัดบ้านปาง บ้านเกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2481 สิริอายุ 60 พรรษา สรีระของท่านเก็บไว้ที่วัดบ้างปางเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะนำมาฌาปนกิจที่วัดจามเทวี ในเมืองลำพูน มีผู้คนหลั่งไหลมาร่วมงานบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจจำนวนนับไม่ถ้วน
ตลอดชีวิตของครูบาศรีวิชัยท่านไม่เคยสำแดงอภินิหาร ไม่เคยสร้างเครื่องรางของขลังใดๆ ศรัทธาที่มหาชนมอบท่าน ล้วนเกิดจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า “...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว...” และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง
ด้วยคุณงามความดีที่ท่านมีต่อสังคม กอปรกับจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส จึงไม่น่าแปลกเลยที่ “ครูบาศรีวิชัย” ยังคงได้รับการยกย่องจากทั้งคนไทยพื้นราบและชาวเขา ว่าเป็น “นักบุญแห่งล้านนา” ผู้เป็นที่รักและเคารพนับถือจวบจนปัจจุบันนี้