หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ
จิตที่สงบนิ่งคือจิตที่มีพลังสูงสุด
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือที่ในบรรดาหมู่ผู้ศรัทธานับถือมักเรียกท่านด้วยชื่อ “หลวงพ่อวัดปากน้ำ” เนื่องจากท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีชื่อเสียงในฐานะพระวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดของการปฏิบัติกรรมฐานพุทธานุสติที่เรียกว่า วิชชาธรรมกาย ซึ่งนับเป็นวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
วัยเด็ก
ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ที่ ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เริ่มเรียนหนังสือกับพระภิกษุผู้เป็นน้าชาย ณ วัดสองพี่น้อง แล้วมาอยู่ ณ วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ในความปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ ศึกษาหนังสือขอมจนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่อง หลังจากนั้นจึงได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าว ด้วยความวิริยะอุตสาหะเพื่อสร้างฐานะให้มั่นคง ท่านเป็นเด็กฉลาด ใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดเป็นต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเด็ดขาด
เมื่ออายุ 14 ปี บิดาได้เสียชีวิตลง ท่านจึงต้องมารับช่วงคุมงานแทน จนกระทั่งอายุย่างเข้า 19 ปี ระหว่างทำการค้าข้าวอยู่นั้น วันหนึ่งท่านนำเรือเปล่ากลับบ้าน พร้อมกับเงินที่ได้จากการค้าหลายพันบาท ระหว่างล่องเรือกลับบ้าน ต้องผ่านคลองช่วงที่เปลี่ยว ชุกชุมด้วยโจรผู้ร้าย ท่านปกติจะยืนถือท้ายเรือ ซึ่งเป็นจุด สำคัญที่โจรจะทำร้ายได้ก่อน ได้สับเปลี่ยนให้ลูกจ้างมาถือแทน ส่วนท่านหยิบปืนยาว ไปถ่อเรือแทนลูกจ้างทางหัวเรือ พอเรือแล่นเข้าลำคลองที่เปลี่ยวขึ้นเรื่อยๆ พลันก็เกิดความคิดแว่บขึ้นมาว่า “คนพวกนี้ เราจ้างเขามาเพียง 11-12 บาท เท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นทั้งเจ้าของทรัพย์และเจ้าของเรือ เมื่อมีภัยใกล้ตาย กลับโยนไปให้ลูกจ้าง” เมื่อคิดตำหนิตัวเองเช่นนี้ ท่านจึงตัดสินใจกลับมาถือท้ายเรือตามเดิมด้วยไม่อยากเอาเปรียบลูกจ้าง ยอมเสี่ยงรับอันตรายแต่ผู้เดียว จนคืนนั้นเรือพ้นจากโจรผู้ร้ายมาได้อย่างปลอดภัย
ท่านก็มาพิจารณาเห็นว่า“การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้าไม่เทียมหน้าเขา บรรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกันจนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกัน ก็บัดนี้บรรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า”
ในวัยอายุ 19 ปี ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต” ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าสู่ร่มกาวพัตร์
เมื่อได้ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวแล้วก็ขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้น เพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพ ด้วยจิตกตัญญูกตเวที เพื่อว่าเมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบาก
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
เมื่อมีอายุย่างเข้า 22 ปี ท่านได้อุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง 1 พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ก็ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ในระหว่างการศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่นั้น ท่านก็ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมทุกวันตลอดมา วันไหนมีเวลาก็มักไปศึกษาวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์ในสำนักต่างๆ อยู่เสมอ
ในพรรษาที่ 11 พระสดจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน จ.นนทบุรี วันหนึ่ง หลังกลับจากบิณฑบาตแล้ว เช้าวันนั้นก็ได้เข้าไปเจริญภาวนาในอุโบสถ เริ่มทำความเพียร โดยตั้งใจว่าหากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจดังนั้นแล้ว ก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการเหน็บชาค่อยๆ เพิ่มทีละน้อยๆ และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่า กระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ อาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวนกระวายจนเกือบจะหมดความอดทน
“เอ...แต่ก่อนเราไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย พอตั้งสัจจะลงไปว่า ถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่ เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากมายอย่างนี้ ผิดกว่าครั้งก่อนๆ ที่นั่งภาวนา เมื่อไรหนอ กลองเพลจึงจะดังสักที”
คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งและซัดส่ายมากขึ้น จนเกือบจะเลิกนั่งหลายครั้ง แต่ด้วยได้ตั้งสัจจะไว้แล้วจึงทนนั่งต่อไป ไปแล้วท่านก็ทนนั่งต่อไป ในที่สุดใจก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ในใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก ความปวดเมื่อยหายไป ในเวลาเดียวกันนั้นเสียงกลองเพลก็ดังขึ้น
วันนั้นท่านมีความสุขตลอดทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสก็ยังเห็นติดอยู่ตรงศูนย์กลางกายตลอดเวลา ในช่วงเย็น หลังจากได้ร่วมลงฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนภิกษุ ท่านได้เข้าไปในพระอุโบสถเพียงรูปเดียว แล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า
เมื่อตั้งจิตอธิษฐานเสร็จก็เริ่มนั่งและตั้งจิตอ้อนวอนแด่พระพุทธเจ้าว่า
“ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตา โปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของข้าพระองค์ฯ จักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ฯด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต”
เมื่อท่านตั้งความปรารถนาแล้ว ก็เริ่มนั่งขัดสมาธิเข้าที่ภาวนา พอดีนึกถึงมดขี้ที่อยู่ในระหว่างช่องแผ่นหินซึ่งกำลังไต่ไปมา จึงหยิบขวดน้ำมันก๊าด เอานิ้วมือจุ่ม เพื่อจะเขียนวงให้รอบตัวกันมดรบกวน แต่พอจรดนิ้วที่พื้นหินยังไม่ถึงครึ่งวง ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ชีวิตของเรา เราได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่ทำไมยังกลัวมดขี้อยู่เล่า นึกละอายตัวเอง จึงวางขวดน้ำมันลง เจริญกัมมัฏฐานต่อไปจนดึกดื่น จนใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน ก็มองเห็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ซึ่งติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายจากเมื่อเพล ยิ่งมองยิ่งใสสว่างมากขึ้น และขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ดวงใสยังคงสว่างอยู่อย่างนั้น เปิดปีติสุขอย่างไรเคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยที่ท่านก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน จนระลึกรู้ด้วยตนเองว่าเป็น “วิชชาธรรมกาย” ท่านถึงกับรำพึงออกมาเบาๆ ว่า
“เออ...มันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงได้ไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับ ก็ไม่เกิด นี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้ เป็นไม่เห็นเด็ดขาด”
ในสมัยนั้น หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจของสังคมและพระเถรานุเถระในวงการพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการกล่าวอ้างถึงคำว่า “ธรรมกาย” แม้ว่าจะมีหลักฐานรูปแบบการ ปฏิบัติเช่นนี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หลักศิลาจารึก และคัมภีร์ต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณมาก่อนแล้ว หากเพียงแต่ว่ามิได้รับการขยายความจากพระวิปัสนาจารย์ท่านอื่นๆ แต่ท่านก็เพียรศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเผยแผ่วิธีการปฏิบัติธรรม เพื่อการเข้าถึงธรรมกาย
สู่วัดปากน้ำ
แม้ว่าท่านเป็นภิกษุผู้รักชีวิตอิสระและสันโดษ ชอบออกธุดงค์แสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ท่านก็ไม่เคยนิ่งดูดายต่อส่วนรวม ไม่ว่าท่านจะไปพักอยู่ที่ใด ก็มักทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในที่แห่งนั้นเสมอ กอปรกับท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในหลายๆ ด้าน ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (เผื่อน ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพนฯ ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่าน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี (เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน) ได้เล็งเห็นว่าพระสดจะสามารถทำประโยชน์ให้กับพระศาสนาได้มาก จึงมอบหมายให้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อเป็นเจ้าอาวาส โดยในช่วงแรกให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสไปก่อน เมื่อท่านรับคำแล้ว จึงได้แต่งตั้งให้เป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรมของพระศากยยุติยวงศ์ ท่านจำต้องรับเพราะไม่อยากขัดใจ
เมื่อมาถึงวัดปากน้ำ ท่านพบว่าวัดอยู่ในสภาพกึ่งวัดร้าง ภายในวัดมีสภาพทรุดโทรม ในสมัยนั้น ที่นี่เป็นสวนพลู สวนหมาก สวนมะพร้าว สวนเงาะ มีศาลาที่เก่ามาก มีโรงครัวเล็กๆ มีกุฏิเล็กๆ ไม่กี่หลัง ยกพื้น ปลูกด้วยไม้สักอยู่ตามร่องสวน พักได้รูปเดียว พระภิกษุและสามเณรที่อยู่ก่อนมีจำนวน 13 รูป มักย่อหย่อนทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ทำให้ท่านต้องพบอุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อนตั้งแต่วันแรกที่มาถึง แต่ท่านก็ไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม ท่านกลับมีความคิดที่จะฟื้นฟูวัดปากน้ำให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอีกด้วย
เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำใหม่ๆ ท่านกล่าวว่า “สร้างคนนั้นสร้างยาก เรื่องเสนาสนะไม่ยาก ใครมีเงินก็สร้างได้ แต่สิ่งสำคัญต้องสร้างคนก่อน” ในเบื้องต้น ท่านมุ่งไปที่ความประพฤติของพระภิกษุสามเณรในวัด ต้องการให้ทุกรูปมีข้อวัตรปฏิบัติที่ดี ประพฤติตนตามพระธรรมวินัย จึงเรียกประชุมพระภิกษุสามเณร ที่อยู่มาก่อนทั้งหมดและให้โอวาทว่า
“เจ้าคณะอำเภอส่งมาเพื่อให้รักษาวัดและปกครองตักเตือนว่ากล่าวผู้อยู่วัดโดยพระธรรมวินัย อันจะทำให้วัดเจริญได้ต้องอาศัยความพร้อมเพรียง และเห็นอกเห็นใจกัน...”
“ฉันมาอยู่วัดปากน้ำ จะพยายามตั้งใจประพฤติให้เป็นไปตามแนวพระธรรมวินัย พวกพระเก่าๆ จะร่วมก็ได้ หรือว่าจะไม่ร่วมด้วยก็แล้วแต่อัธยาศัย ฉันจะไม่รบกวนด้วยอาการใดๆ เพราะถือว่าทุกคนรู้สึกผิดชอบด้วยตนเองดีแล้ว ถ้าไม่ร่วมใจก็ขออย่าได้ขัดขวาง ฉันก็จะไม่ขัดขวางผู้ไม่ร่วมมือเหมือนกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่ต้องช่วยกันรักษาระเบียบของวัด คนจะเข้าจะออกต้องบอกให้รู้ ที่แล้วมาไม่เกี่ยวข้อง เพราะยังไม่อยู่ในหน้าที่ จะพยายามรักษาเมื่ออยู่ในหน้าที่”
การปกครองดูแลวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้ภารกิจด้านการบริหาร การปกครอง และการพัฒนาวัดปากน้ำภาษีเจริญจะมีมากสักเพียงใด แต่ท่านก็ไม่เคยละทิ้งการปฏิบัติธรรม รวมถึงการเผยแผ่วิชชาธรรมกายด้วย เพราะท่านถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง
ปัจฉิมวัย
นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการจัดการ ศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ รวมทั้งช่วย เหลือผู้คนที่มาขอพึ่งบารมีของท่านเพื่อบรรเทาทุกข์ยาก ท่านได้ทุ่มเทชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนา จนมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก ทำให้สุขภาพทางกายทรุดโทรม
เมื่อวัยเข้าสู่วัยชรา ท่านเริ่มอาพาธในวัย 73 ปี ต่อเนื่องกว่า 2 ปีเศษ แต่ท่านก็มิได้แสดงอาการรันทดใจใดๆ ยังคงยังคงออกเทศน์สอน ไม่ยอมทอดทิ้งธุระที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร ต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ เวลาจะลุกจะนั่งท่านไม่พอใจให้ใครไปช่วยเหลือ ท่านพอใจทำเองอนุญาตให้ผู้อื่นคอยช่วยเหลือเวลาท่านเซไปเท่านั้น
ท่านได้เรียกประชุมศิษย์ทั้งใน และนอกวัดเป็นกรณีพิเศษ เพื่อชี้แจงโครงการพัฒนาวัดปากน้ำให้คณะศิษย์ช่วยกันดำเนินต่อไปให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ท่านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ท่านบอกว่า ต่อไปวัดปากน้ำจะเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 เวลา 15.05 น. พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำภาษีเจริญ สิริอายุได้ 74 ปี 3 เดือน 24 วัน นับอายุพรรษาได้ 53 พรรษา