สมเด็จโต วัดระฆัง

สมเด็จโต วัดระฆัง

ภิกษุผู้ไม่ปรารถนาในลาภยศใดๆ

  หากเอ่ยถึงพระมหาเถระสักรูป ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชนมาตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ พระอันดับต้นๆ ที่เรานึกถึงคงต้องมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5  เป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน

  คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า “สมเด็จโต” “หลวงปู่โต” “สมเด็จวัดระฆัง” ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่าน จะเรียกท่านว่า “ขรัวโต”

  ท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทยที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจำนวนมากให้ความเคารพนับถือ เสมือนเพชรประดับในเรือนใจ ด้วยเป็นพระเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นอัจฉริยสงฆ์ที่เปี่ยมด้วยภูมิปัญญา มีจริยาวัตรอันสุดแสนจะสมถะ เปี่ยมด้วยบุญญาบารมีอันแก่กล้า สร้างคุณูปการ และสมบัติของชาติไว้หลายชิ้นให้กับชนรุ่นหลังได้บูชา ระลึกถึง และนำมาใช้ประโยชน์มากมาย

  นอกจากนี้ ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล “พระสมเด็จ”  ซึ่งท่านได้เริ่มสร้างตั้งแต่ยังไม่ได้ยศสมเด็จเพื่อเป็นพุทธบูชา ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย ปัจจุบันมีราคาเช่าต่อองค์สูงอย่างมิอาจประเมินได้ บางองค์บางรุ่นมีเช่ากันในมูลค่าสูงกว่าร้อยล้านบาท

  หากแต่บรรดาผู้ที่นับถือบูชาเจ้าพระคุณสมเด็จ และพระสมเด็จวัดระฆังด้วยความรู้แท้  รู้จริง จะพึงเข้าใจว่า  ถ้าหากมีศรัทธามั่น นับถือบูชาเจ้าประคุณสมเด็จ และพระสมเด็จมั่นคงจริงแท้แล้ว ถึงแม้จะเป็นพระที่ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ หากได้บูชาสวด พระคาถาชินบัญชร  เป็นประจำแล้ว พระที่ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ก็มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นพระสมเด็จวัดระฆังแท้ได้เหมือนกัน

  และแน่นอนว่า อีกสิ่งที่คนทั่วไปนึกถึงเมื่อเอ่ยถึงท่านคือ “บทสวดพระคาถาชินบัญชร”  นั่นเอง สันนิษฐานว่า พระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น เป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

  โดยสมเด็จโตได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น เป็นหนึ่งในบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมสวดมากที่สุด ด้วยเชื่อกันว่าสามารถป้องกันสรรพอันตรายทั้งหลายได้เหมือนเกราะเพชร และให้โชคให้ลาภตามที่ปรารถนาได้ นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่ท่านได้ทิ้งไว้เป็นมรดกสำหรับผู้เลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา ใช้เป็น “ไฟฉายส่องทาง” สู่การมีสติ สมาธิ และปัญญา อันจะนำสู่การดำเนินชีวิตที่ดี และเสริมสร้าง “สิริมงคลของชีวิต” ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า ภาวะที่มีสติ คือความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงของชีวิต

  ย้อนกลับไปเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน  ในสมัยรัชกาลที่ 1 เด็กน้อยชื่อโต ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ บ้านไก่จัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ต่อมาเมื่อมีอายุได้ประมาณ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร จนเมื่ออายุครบอุปสมบท จึงได้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช สุก ญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า“พฺรหฺมรํสี”

  เล่ากันว่า  ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในเกียรติคุณของพระภิกษุโต แต่พระภิกษุโตไม่ยอมรับมาตลอดรัชกาล นั่นเป็นเพราะท่านมีอุปนิสัยไม่ปรารถนายศศักดิ์ หรือลาภสักการะใดๆ ทั้งสิ้น

  ด้วยอุปนิสัยดังกล่าวข้างต้น แม้พระภิกษุโตได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ก็ไม่ยอมเข้าสอบเปรียญธรรม แต่เลือกที่ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อปฏิบัติธรรม เผยแผ่พระพุทธศาสนา สั่งสมบุญบารมี ท่านได้สร้างปูชนียสถานให้ผู้คนเคารพบูชา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไว้หลายที่ ซึ่งล้วนเป็นปูชนียสถานที่มีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของพระภิกษุโต เช่น พระพุทธไสยาสน์ ที่วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, พระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง รวมทั้งการสร้างพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร วัดกลางคลองข่อย ตำบลคลองข่อย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2390

  การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องใช้ทั้งทุนทรัพย์ และแรงงานจำนวนมาก กว่าจะสำเร็จลุล่วงได้ นี่จึงเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงพลานุภาพแห่งความศรัทธา และบารมีของพระภิกษุโต ที่แผ่ไปในทุกย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านได้เป็นอย่างดี

  ถึงแม้ท่านจะสร้างรูปเคารพที่ใหญ่โต หรือวัตถุมงคลใดๆ ก็ตาม แต่ท่านสอนลูกศิษย์เสมอว่า เรื่องของบุญ บารมีเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องสั่งสมกันเอง การร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยที่ไม่มีบุญบารมีสั่งสมเอาไว้เลยนั้นเป็นการเปล่าประโยชน์

  ปัจจุบันได้ปรากฏมีคำสอนต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่เป็นที่นิยมนับถือกันทั่วไป โดยไม่มีการอ้างอิงที่มาที่แน่ชัด เช่น

  “ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้ แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง จงจำไว้นะ เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลา ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า”

  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์ได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ “พระธรรมกิติ” และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี

  โดยปกติ พระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด และอีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ “พระเทพกระวี” หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า

  สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ

  สมณศักดิ์ดังกล่าว นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ

  ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ ก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมในนั่นเอง ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สิริรวมอายุได้ 84 ปี ครองสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

สมเด็จโต วัดระฆัง(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!