สมเด็จเกี่ยว

สมเด็จเกี่ยว

ประทีปธรรม...ผู้นำศาสนาพุทธจากไทยไปก้องโลก

  “ผู้รักษาศีล ตั้งใจให้ดี ปิดอบายภูมิได้แน่นอน”  นี่หนึ่งในคำสอนของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และประธานสมัชชามหาคณิสสร เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม และเป็นผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก ทำให้มีพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางธรรม

  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว อุปเสโณ หรือเด็กชายเกี่ยว โชคชัย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2471 เป็นชาวบ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบครัวทำสวนมะพร้าว

  เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่า หากหายจากป่วยไข้จะให้บวชเป็นเณร เมื่อหายป่วยจึงได้ให้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ตอนอายุ 12 ปี ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลบ่อผุด บนเกาะสมุยนั่นเอง

  จากเดิมที่ตั้งใจจะบวชเณรเพียง 7 วัน แต่ด้วยศรัทธาต่อพระธรรมคำสอน ปรากฏว่าสามเณรเกี่ยวไม่คิดสึก โยมบิดามารดาจึงพาไปฝากพระครูอรุณกิจโกศล หรือหลวงพ่อพริ้ง เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย ต่อมาหลวงพ่อพริ้งนำไปฝากอาจารย์เกตุ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่นาน กรุงเทพฯ ประสบภัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อจึงรับตัวกลับพาไปฝากอาจารย์มหากลั่น ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎณ์ธานี กระทั่งสงครามสงบจึงพากลับไปที่วัดสระเกศ ฝากไว้กับสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) และท่านก็ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิเรื่อยมา

  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ดำรงตนอยู่ในสมณเพศตราบเข้าสู่วัยชรา สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาได้มากมายจวบจนแยกจิตจากสังขาร มรณภาพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 สิริรวมอายุ 85 ปี

นำพุทธศาสนาจากไทยสู่ต่างแดน

  ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าประคุณสมเด็จฯ ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และวางรากฐานแนวคิดนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

  นอกจากแรงบรรดาใจในการเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างแดนที่ได้รับมาจากเจ้าประคุณสมเด็จสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ผู้เป็นอาจารย์แล้ว พระพรหมสุธี เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ลูกศิษย์ก้นกุฏิของสมเด็จเกี่ยว ได้เล่าถึงปณิธานการเผยแผ่ธรรมของท่านไว้ว่า ท่านเห็นแบบอย่างจากพระอัสสชิ และสองพระธรรมทูตที่นำพุทธศาสนาจากอินเดียมาเผยแผ่ยังแผ่นดินสุวรรณภูมิ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระเป็นหัวหน้าคณะ ด้วยแรงบันดาลใจเหล่านี้ ทำให้เจ้าพระคุณสมเด็จเดี่ยวมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้พระพุทธศาสนาจากประเทศไทย กระจายไปอยู่ในถิ่นที่ต่างๆ ทั่วโลก

  เจ้าประคุณสมเด็จฯ เริ่มทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการเริ่มฝึกพระธรรมทูตให้มีความพร้อมทั้งพระธรรมวินัย และหลักธรรมคำสอนในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่งเสริมให้เรียนทั้งกรรมฐาน และภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พุทธศาสนาแก่ชาวต่างชาติ

  ขณะเดียวกันก็เริ่มเดินทางไปยังต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางในการสร้างวัดไทยในประเทศนั้นๆ โดยในช่วงแรกๆ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะเน้นการเดินทางไปยังประเทศที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งที่เคยรุ่งเรือง หรือล่มสลายไปแล้วตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย เช่น การสานศาสนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ริเริ่มการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศจีน การเดินทางไปยังมาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และอัฟกานิสสถาน เป็นต้น จากนั้น จึงค่อยเดินทางไกลออกไปยังยุโรป และอเมริกา

  จากการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ทำให้เจ้าประคุณสมเด็จมีโอกาสพบปะกับชาวไทยในต่างแดน ได้ทราบถึงความเป็นอยู่และความลำบากของชาวไทย ท่านพบว่า ประเทศที่คนไทยไปอยู่กันนานๆ เมื่อมีพระไปอยู่ก็เหมือนได้ที่พึ่ง บางคนอยู่ต่างประเทศเป็นสิบๆ ปี ไม่เคยกลับบ้าน ไม่เคยเจอพระ พอเห็นพระถึงกับร้องไห้ บอกว่าเหมือนพระมาโปรด ยิ่งเป็นแรงผลักดันเสริมให้ท่านมุ่งมั่นการสร้างวัดไทยในต่างประเทศมากขึ้น

  ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับนิมนต์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา จึงเริ่มเห็นหนทางในการเผยแผ่และวางรากฐานพระพุทธศาสนาที่นั่น โดยเริ่มจากการอาศัยสมาคมชาวไทยต่างๆ เช่น สมาคมชาวไทยอีสาน สมาคมชาวไทยเหนือ และสมาคมชาวไทยทักษิณ ตลอดจนนักศึกษาในอเมริกา ในการวิธีการที่จะสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกาจนสำเร็จ

  ก่อนที่จะส่งพระธรรมทูตไป ท่านได้ไปทดลองใช้ชีวิตที่ประเทศอเมริกาด้วยตนเอง เพื่อศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี อยู่นานถึง 2 เดือน

  หลังการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกาบรรลุผลสำเร็จ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เปลี่ยนเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสังเกตการณ์พระศาสนาในยุโรป โดยเริ่มต้นที่ประเทศเนเธอแลนด์ เพราะเห็นว่าสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศไม่เหน็บหนาวจนเกินไปที่พระธรรมทูตจะดำเนินชีวิตอยู่ได้ อย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย วัดไทยแห่งแรกในยุโรปจึงถูกสร้างขึ้นที่นั่น และทั้งจัดให้เป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตให้รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวียไปด้วย

  ด้วยสมเด็จฯ เชื่อมั่นว่า แม้สภาพภูมิอากาศประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี แต่สภาพจิตใจของผู้คนกลับอ่อนโยน พระพุทธศาสนาน่าจะเจริญได้ดีในประเทศแถบนั้น แม้ในช่วงแรกจะยังไม่มีการสร้างวัดอย่างเป็นกิจลักษณะ แต่ธงธรรมจักรได้เริ่มถูกชักขึ้นเหนือหน้าต่างคอนโดที่พัก ในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธศาสนาจะเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว

  พระพุทธศาสนาในประเทศสวีเดนได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง และเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตก ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยดำริจะให้มีวัดไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในประเทศของตน และจัดสรรพื้นที่ให้กว่า 271 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดไทย

  ด้วยนโยบายที่ลึกซึ้งของท่านทำให้คณะสงฆ์ไทยใช้เงินน้อยมากในการสร้างวัดไทยในต่างแดน โดยเฉพาะทางฝั่งยุโรป เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้วางแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า

  “พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใดต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ เราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไรจึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง”

  นอกจากช่วยประหยัดงบประมาณของชาติไปจำนวนมากแล้ว การที่ฝรั่งเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัดในพระพุทธศาสนาขึ้นเอง ย่อมช่วยสร้างความรู้สึกรักและความผูกพันในสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา ซึ่งจะทำให้วัดไทยมีความมั่นคง ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี

  ปัจจุบันมีวัดไทยเกิดขึ้นมากมายในยุโรป เช่น วัดพุทธาราม กรุงสต๊อกโฮล์ม, วัดพุทธาราม เฟรดิก้า ประเทศสวีเดน, วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์, วัดไทยเดนมาร์ค กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค, วัดไทยฟินแลนด์ กรุงเฮลซิงกิ, วัดไทยในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน, วัดไทยไอซแลนด์, และวัดไทยเบลเยียม ซึ่งขยายวัดออกไปอีกถึง 3 วัดในลักซัมเบิร์กในเวลาต่อมา เป็นต้น

ปัจจุบันมี วัดไทยในต่างประเทศทั่วโลก[1]  48 แห่ง ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอีกหลายวัดในทวีปเอเชีย พระธรรมทูตที่ส่งไปไม่ได้มีหน้าที่เพียงเผยแผ่พุทธศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังช่วยสอนภาษาไทยให้กับลูกครึ่งคนไทย รวมทั้งวัฒนธรรม และประเพณีไทยอีกด้วย

  นอกจากนี้ เมื่อสมเด็จฯ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นภายในบริเวณวัด และให้ชื่อว่า“อาคารอนุสรณ์สมเด็จฯ ญาโณทยมหาเถระ พ.ศ.2517  เพื่อเป็นที่พักของพระสงฆ์ต่างชาติที่มาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทยให้ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัย และเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก ได้เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทยในต่างแดน และชาวต่างประเทศทั่วโลก

เปิกกว้าง สนับสนุนด้านการศึกษา

  เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระที่เปิดกว้าง สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรได้รับการศึกษาอย่างไม่ปิดกั้น ส่งเสริมให้เรียนสูงๆ ให้ทุนเรียนต่อปริญญาโท และเอกมากมาย โดยมีแนวทางกว้างๆ ว่าเมื่อบวชเข้าในพุทธศาสนาแล้ว ต้องเรียนพระธรรมวินัยและหลักธรรมเสียก่อนเพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไป เมื่อเรียนรู้เต็มที่แล้ว ท่านจะส่งเสริมให้เรียนวิชาสมัยใหม่ วิชาการอันใดก็ได้ที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย

  นอกจากนี้ ท่านยังริเริ่มให้พระสงฆ์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่นการจัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์พระพุทธศาสนาภายใต้กำกับมหาเถรสมาคม เป็นต้น

พระผู้เมตตาและสมถะ

  แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะมีศาสนากิจมากมาย แต่ก็ถึงพร้อมด้วยจริยวัตรและปฏิปทาที่งดงาม ภายใต้ใบหน้าที่อ่อนโยน มีรอยยิ้มฉายอยู่บนหน้าตลอดเวลา บ่งบอกพลังแห่งเมตตาธรรม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนในพระกรรมฐานอย่างหนัก

  ท่านเริ่มเรียนพระกรรมฐานเบื้องต้นจากหลวงพ่อพริ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของเกาะสมุย โดยหลวงพ่อพริ้งได้นำเจริญพระกรรมฐานบนหลุมฝังศพขณะมีอายุ 12 ปี เท่านั้น ต่อมา ได้เรียนพระกรรมฐานจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านมีความชำนาญด้านกสิณ นอกจากนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้ให้ความสนใจวิธีการเจริญพระกรรมฐานแนวอื่นๆ อีกด้วย

  นอกจากนี้ท่านยังมีวัตรปฏิบัติสมถะ และไม่ยึดติด โดยเน้นการทำให้บรรดาศิษย์ดูเป็นแบบอย่าง ลูกศิษย์ก้นกุฏิต่างยืนยันว่า ห้องของท่านมีเพียงเสื่อผืน หมอนใบ และผ้าปูเสื่อ 1 ผืน ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ ท่านมักนำเงินจากกิจนิมนต์ที่ญาติโยมถวายมาในโอกาสต่างๆ ไปบริจาคเงินสร้างตึกตามโรงพยาบาล และเมื่อสร้างเสร็จแล้วท่านจะไม่ให้ชื่อท่าน แต่ให้ใช้ชื่อว่า “ตึกผู้มีพระคุณ” ซึ่งหมายถึงญาติโยมเจ้าของเงินนั่นเอง

  นอกจากนี้ แม้ท่านจะเป็นพระ แต่ก็เลี้ยงอาหารพระบ่อยมาก ให้พระได้ทดลองฉันอาหารฝรั่งบ้าง ท่านบอกว่าอยากให้พระรู้จัก รู้เท่าทันเหตุการณ์ ส่วนการฉันของท่านจะไม่ยึดติดกับอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง โยมถวายอะไรมาก็ฉันอย่างนั้น

ลำดับเส้นทางชีวิตกับการวางรากฐานงานพระธรรมทูต ณ ดินแดนนอกอาณาเขตพระพุทธศาสนา

พ.ศ.2489 สอบได้นักธรรมชั้นเอก

พ.ศ.2497  สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

พ.ศ.2497  ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า

พ.ศ.2498 เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฎก ฉบับปี 2500 ของคณะสงฆ์

พ.ศ.2499 เป็นอาจารย์สอนบาลี มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

พ.ศ.2500 ไปร่วมประชุมอรรถกถาสังคยานา ณ ประเทศพม่า เป็นประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

พ.ศ.2502 เป็นผู้ช่วยอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

เป็นหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

ไปสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศใกล้เคียง ได้แก่ ลาว อินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา เป็นต้น

พ.ศ.2504 เป็นกรรมการหน่วยวิจัย จัดทำนามมานุกรม ของคณะสงฆ์ โดยกรมศาสนา

พ.ศ.2505 เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนาและเชื่อมศาสนสัมพันธ์ ที่ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และจีนฯลฯ

พ.ศ.2506 เป็นประธานคณะกรรมการต้อนรับสมณทูต จากไต้หวัน

พ.ศ.2507  เป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 เป็นหัวหน้าอำนวยการพระธรรมทูตสาย 8

พ.ศ.2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9

เป็นเลขานุการสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาราเถระ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ.2509 เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศลาว และเวียดนาม

พ.ศ.2510  เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศลาว และศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ในความอุปถัมภ์ของ พ.ส.ล.

พ.ศ.2511    เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน

พ.ศ.2512   เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

พ.ศ.2513   เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

เป็นกรรมการยกร่างหลักสูตรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ

พ.ศ.2514   ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

พ.ศ.2515   เป็นหัวหน้าคณะไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

พ.ศ.2516  เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

พ.ศ.2524  ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10

เป็นรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก

พ.ศ.2525  ไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสาธิตอุปสมบทกรรม และอุโบสถกรรม ตามแบบคณะสงฆ์ไทย ที่ประเทศศรีลังกา

พ.ศ.2528  เป็นประธานกรรมาธิการ สังคยานาพระธรรมวินัย ตรวจชำระ พระไตรปิฎก ในมหามงคลสมัยพระชนมพรรษา 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

พ.ศ.2532  ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก

เป็นประธานคณะกรรมการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

พ.ศ.2534  เป็นประธานคณะกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535

เป็นประธานกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุ สามเณร (ศ.ต.ภ.)

เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต

พ.ศ.2535  เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน

พ.ศ.2537  เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวออสเตรเลีย ณ ประเทศออสเตรเลีย

พ.ศ.2539 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ และสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศเยอรมัน

พ.ศ.2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถระสมาคม

เป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย

พ.ศ.2541   เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน

พ.ศ.2542  เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อเปิดวัดนอร์เวย์ และสังเกตการณ์พระพุทธศาสนา ในภาคพื้นยุโรป เช่น สวีเดน เยอรมัน เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์

พ.ศ.2543  เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน

พ.ศ.2545 เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

พ.ศ.2547  เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พ.ศ.2549 ริเริ่มให้จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา

พ.ศ.2550 ริเริ่มให้จัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์พระพุทธศาสนาภายใต้กำกับมหาเถรสมาคม

ริเริ่มให้พระสงฆ์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พ.ศ.2551   จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ภายใต้กำกับมหาเถระสมาคม โดยการสนับสนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาต เป็นศูนย์กลางด้านความมั่นคงของ พระพุทธศาสนา

พ.ศ.2553  ให้กำเนิดพระธรรมทูตอาสา 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้

มีพระบัญชาให้อัญเชิญพระคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนา 2,000 ปี จากประเทศนอร์เวย์ ประดิษฐานเป็นการถาวร ณ บรมบรรพต ภูเขาทอง

พ.ศ.2554 จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือวัด และผู้ประสบภัยน้ำท่วมของคณะสงฆ์

พ.ศ.2555 ก่อตั้งรางวัลระดับนานาชาติ "Awakening Leadership Award" และประกาศเกียรติคุณแก่ผู้นำชาวพุทธ กว่า 85 ประเทศทั่วโลก ณ องค์การสหประชาชาติ

______________

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือชีวิตและความคิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), วิกิพีเดีย, เฟซบุ๊ก สำนักงาน  ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ

[1] เว็ปต์ไซต์วัดไทยในต่างประเทศ  http://www1.onab.go.th/index.php?option=com_weblinks&view=category&id=87&Itemid=290 ,สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ

สมเด็จเกี่ยว(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!