หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
แม่ทัพธรรม แห่งพระป่าสายพระกัมมัฏฐาน
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หรือ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระสายธรรมยุตชาวไทย เป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์พระกรรมฐานไทย
คงไม่เกิดเลยหากจะกล่าวว่า ท่านเป็นดั่งจอมทัพธรรมแห่งรัตนโกสินทร์ ต้นแบบพระแท้แห่งพุทธกาล ผู้ถักทอเครือข่ายพระป่าให้ครอบคลุมทั่วหล้า ผู้เป็นแบบอย่างในการรักษาสิกขาบทชนิดเอาชีวิตเข้าแลก ผู้อิ่มบารมีธรรมอย่างเอกอุ ผู้เป็นแสงอาทิตย์ฉายกล้าไปทั่วอาณาเขตพุทธแดนไทย ให้ลูกหลานสืบทอดผ่านกาลสมัยรุ่นแล้วรุ่นเล่า
แม้ท่านมรณภาพไปตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2492 แต่ก็ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์สืบต่อแนวปฏิบัติของท่านสืบมา เป็น “กองทัพนักธรรม” โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น “พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า” สืบมาจนปัจจุบัน
ภูมิหลัง
พระอาจารย์มั่น ชื่อเดิม “มั่น แก่นแก้ว” เกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ปีมะแม ที่บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบัน อำเภอศรีเมืองใหม่) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายคำด้วง และนางจันทร์ แก่นแก้ว
หลวงปู่มั่นบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยงานทางบ้าน แม้สึกออกมาแล้ว แต่จิตยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก”
เมื่อครั้งหลวงปู่เสาร์ได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่บ้านคำบง นายมั่นจึงเข้าถวายการรับใช้ และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ จึงขอท่านเป็นศิษย์และติดตามเข้าเมืองอุบลฯ เมื่ออายุได้ 23 ปี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อแรกบวชได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรม ในสำนักของพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) ณ วัดเลียบ และภายหลังท่านได้ออกจาริกเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ แล้วธุดงค์เดี่ยวตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งเดินทางไปศึกษาธรรมะจากพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ก่อนจะออกจาริกไปอีกหลายแห่ง จนกระทั่งถึงถ้ำสาลิกา ใกล้น้ำตกเขาสาริกา จังหวัดนครนายก และท่านได้ บรรลุธรรมชั้นอนาคามี ที่นั่นเอง
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ภิกษุมั่นมีจิตมุ่งที่จะธุดงค์ไปปลีกวิเวก หาความสงบเพื่อปฏิบัติในสถานที่สัปปายะ ไม่ว่าจะเป็นราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย โตรกธาร เงื้อมผา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ตลอดชีวิตบรรพชาท่านข้ามเขามาแล้วไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก ไปทั่วภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง รวมทั้งข้ามไปยังฝั่งขวาแม่น้ำโขง ประเทศลาว โดยไม่หวั่นต่อความยากลำบาก และภัยอันตรายใดๆ
เมื่อครั้งที่ท่านธุดงค์ไปยังถ้ำสาลิกา จังหวัดนครนายก ท่านวานให้ชาวบ้านพาไปส่งที่ถ้ำดังกล่าว เพราะไม่รู้จักทาง แต่ชาวบ้านกลับพยายามทัดทานให้ท่านเปลี่ยนใจ เพราะเคยมีพระธุดงค์ไปมรณภาพในถ้ำที่มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัวแห่งนั้นมาแล้วถึง 6 รูป แต่ภิกษุมั่นก็ยังยืนยันจะพำนักอยู่ที่นั่น ด้วยจิตตั้งมั่นว่า“นักปฏิบัติต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ จึงจะรู้ธรรมเห็นธรรม” ท่านบอกอย่างแน่วแน่ว่าขอเป็นรูปที่ 7 ที่เข้าไป
ขณะบำเพ็ญเพียรในถ้ำในระยะเดือนแรกๆ ท่านรู้สึกปรกติดี จิตใจสงบ ไม่มีอะไรพลุกพล่าน แต่รุ่งเช้าวันหนึ่ง หลวงปู่ออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้านไร่ตามปกติ หลังฉันแล้วก็พักกลางวันไปสักหนึ่งชั่วโมง พอลุกขึ้น ก็รู้สึกตัวหนักไปหมด หนำซ้ำเกิดท้องร่วงอย่างแรง เมื่อสังเกตดูอุจจาระพบว่าอาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อยเลย ข้าวสุกยังเป็นเม็ด อาหารที่ทานเข้าไปยังอยู่ในสภาพเดิม ท่านจึงเข้าใจว่าพระที่มรณภาพรูปก่อนๆ คงเป็นเพราะเหตุนี้เอง ได้รำพึงกับตัวเองว่า “เราก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น” หลวงปู่มั่นจึงได้หาที่น่าหวาดเสียวที่สุด เห็นว่าริมปากเหวเหมาะที่สุดที่จะนั่งบำเพ็ญเพียร ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า
“หากจะตายขอตายตรงนี้ ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้ จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใคร ๆ ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด”
จากนั้นท่านก็ใช้ธรรมโอสถรักษาอาการป่วยไข้เจียนตาย โดยการนั่งสมาธิ พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์ เจริญอสุภกรรมฐานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน จนผ่านพ้นความตายมาได้ และที่นี่หลวงปู่มั่นก็ได้บรรุธรรมขั้นอนาคามี คือเป็นพระอริยบุคคลผู้จะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดในพรหมโลกอีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะบรรลุอรหันต์นิพพาน
ต่อมาท่านได้ธุดงค์ขึ้นไปภาคเหนือ จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร 1 พรรษา และจำใจต้องตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เป็น พระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์ ด้วยเห็นแก่ท่านเจ้าคุณอุบาลีผู้นิมนต์ ผู้ซึ่งขณะในกำลังอาพาธเป็นโรคมะเร็งที่กระดูกตรงขา แต่ต่อมาท่านจึงล้มเลิกความตั้งใจ รำพึงในใจว่า “หากเรายังรับตำแหน่งอยู่ต่อไป ลาภสักการะอาจจะฆ่าการปฏิบัติของเรา อันเป็นเหตุแห่งการฆ่าการประพฤติปฏิบัติก็เป็นได้”
หลังละตำแหน่ง หลวงปู่มั่นธุดงค์เข้าป่า อาศัยอยู่ตามดอยมูเซอ ถ้ำเชียงดาว ถ้ำพวง ฯลฯ แล้วออกไปพำนักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง 11 ปี และสงเคราะห์คู่บำเพ็ญบุญในอดีตชาติของท่าน ชื่อแม่บุญปัน ที่บ้านแม่กอย ตำบลกลางเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
หลวงปู่มั่นบำเพ็ญเพียรปฏิบัติภาวนาจนกระจ่างในธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ หากแต่ท่านพบว่า ตนยังได้ความรู้ถึงเพียงขั้นปฏิสัมภิทานุศาสน์ คือสามารถสอนผู้อื่นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น หลวงปู่ได้เร่งความเพียรหนักขึ้น ด้วยจริยวัตรสงบ-สมถะ-สันโดษ จนเข้าถึงสัจธรรมโดยแท้
และในปี พ.ศ. 2478 หลวงปู่มั่นก็บรรลุธรรมขั้นสุด ที่ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังดอยนะโม ใกล้ดอยแม่ปั๋ง ได้พูดกับลูกศิษย์ คือหลวงปู่ขาว อนาลโยว่า “ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานกระบุงตะกร้า พอช่วยเหลือพวกท่าน และลูกศิษย์ลูกหาได้บ้างเท่านั้น”
ท่านได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาจนบรรลุธรรมสูงสุดเป็นจำนวนมาก ด้วยแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า ก่อนที่จะรับนิมนต์ของพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ให้กลับไปสั่งสอนลูกศิษย์ทางภาคอีสาน
กลับถิ่นอีสานบ้านเกิด
หลวงปู่มั่นได้อาศัยรถไฟจากสถานีเชียงใหม่ ลงที่จังหวัดนครราชสีมา โดยพำนักที่วัดป่าสาลวัน แล้วลงจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (ปัจจุบันเป็น อ.โคกศรีสุพรรณ)
ด้วยคุณความดี และญาณความรู้ที่กว้างขวางแม่นยำทุกด้านหาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่งของหลวงปู่มั่นขจรขจายไปไกล ลูกศิษย์ลูกหาเดินทางมาขอศึกษาธรรมปฏิบัติจากท่านมากขึ้นๆ แม้ท่านจะออกธุดงค์ไป ณ หนใด พระผู้ศรัทธาทั้งหลายจะดั้นด้นตามไปฝากตนเป็นศิษย์ไม่ขาดสาย
จากนั้น ท่านจึงย้ายที่ปักหลักจำพรรษาไปวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (หรือ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส ในปัจจุบัน) พอลงหลักปักฐานที่วัดป่าหนองผือนาเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ทุ่มเทสอนอุบายธรรมเพื่อการหลุดพ้นให้รู้แจ้งเห็นจริงตามอริยสัจ แก่ลูกศิษย์คณะสงฆ์และฆราวาสญาติโยมทั้งหลาย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ตราบจนวาระสุดท้าย
อุบายสอนธรรมอันแยบคาย
ท่านพระอาจารย์มั่นมีความชาญฉลาดเชี่ยวชาญการดักใจ ทรมารกิเลสของบุคคลต่างๆ ได้เป็นเลิศ มีญาณหยั่งรู้จิตใจผู้อื่นได้รวดเร็ว ทำให้ศิษย์ทั้งหลายต่างยำเกรง สำรวมในการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด
ท่านจะเน้นให้ลูกศิษถือ สัลเลขธรรม เป็นเครื่องดำเนินอยู่เสมอ คือถือเอาธรรมะเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ไม่ว่าจะสนทนาปราศรัยอะไรจะไม่ห่างจากสัลเลขธรรม 10 ประการ ซึ่งประกอบด้วย อัปปิจฉตา (ความมักน้อย), สันตุฏฐิตา (สันโดษ), อสังคณิกา (ความไม่คลุกคลีมั่วสุม), วิเวกตา (ความสงัดวิเวก), วิริยารัมภะ (ความเพียร) ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ (ความหลุดพ้น), วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น)
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ซึ่งเป็นพระลูกศิษย์รูปหนึ่งของท่านอาจารย์มั่น เคยเล่าไว้ว่า การใช้ภาษาของพระอาจารย์มั่นนั้นแตกฉานยิ่งนัก สามารถเทศน์คำว่า “นโม” เพียงคำเดียวได้เป็นเดือนๆ ยิ่งคำว่า “มหา” ท่านก็เทศน์สนุกมาก ครั้งหนึ่งมีพระจากกรุงเทพฯ สองรูปซึ่งมีความรู้แตกฉานในพระคัมภีร์หนังสือวิสุทธิมรรคไปหาท่าน ท่านพระอาจารย์มั่นก็สอนว่า
“วิสุทธิมรรคนั้นมีอะไร มีศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ นิเทศนี้คืออะไร ก็คือนิทาน เป็นนิทานเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ความจริงของศีล สมาธิ ปัญญาหรอก ถ้าต้องการรู้ความจริง ต้องปฏิบัติให้มีขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน”
พระอาจารย์มั่นมีความละเอียดมากในการสอนลูกศิษย์ เวลาพระรูปไหนป่วยแล้วขอยา ท่านจะว่า นี่จะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือเอาศาสนาพุทธหรือศาสนายากันแน่ แต่ถ้ารูปไหนป่วย แล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตียนอีกว่า ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก ฟังดูแล้วดูเหมือนลูกศิษย์ต้องโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ความหมายของท่านคือ ขอปราบทิฏฐิของลูกศิษย์ในเรื่องนี้ เพราะความดีไม่ได้อยู่กับการฉันยาหรือไม่ฉันยา แต่อยู่กับการใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์นั้นต่างหาก
การรู้แจ้งของพระอาจารย์มั่นนั้นเกิดการจากปฏิบัติ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ส่วนการเห็นธรรมของท่าน เกิดจากการพิจารณาธรรมชาติจนเกิดปัญญา มิใช่เกิดแต่การศึกษาคัมภีร์ใบลานที่มีผู้จารความรู้ไว้สมบูรณ์แล้ว ดังที่ท่านเคยตอบปัญหาต่อพระมหาเถระรูปหนึ่งไว้ว่า
“ธรรมคือสติปัญญาในหลักธรรมชาติ”
และในอีกคราวหนึ่งต่อหน้าชาวกรุงเทพฯ ว่า
“อาตมาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก บวชแล้วอาจารย์พาเที่ยวและอยู่ตามป่าตามเขา เรียนธรรมก็เรียนไปกับต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำลำธาร หินผาหน้าถ้ำ เรียนไปกับเสียงนกเสียงกา เสียงสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ตามทัศนียภาพที่มีอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง ไม่ค่อยได้เรียนในคัมภีร์ใบลาน”
วาทะของท่าน นำมาซึ่งข้อสรุปอันเรียบง่ายทว่าสมบูรณ์ในตัวว่า ธรรมะก็คือธรรมชาติ นั้นเอง
ครั้งหนึ่ง ท่านเกิดนิมิตในสมาธิต่อเนื่องกันนานถึง 3 เดือน จนไม่มีนิมิตอะไรต่อไปอีกแล้ว มีแต่ความสุขสงบเหลือที่จะประมาณได้ จนท่านเองสำคัญว่า “ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริง หมดจากกิเลสแล้ว” หลวงปู่ได้ยกประสบการณ์ในครั้งนั้นมาเป็นตัวอย่างสั่งสอนศิษย์ว่า
“ระวังอย่าได้ไปหลงนิมิตเช่นนี้ เพราะมันวิเศษจริงๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้ แล้วสำคัญตนผิด เราเองก็เป็นมาแล้ว และมันก็น่าจะหลงใหล เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส ก็คือความเป็นเช่นนี้”
หลังจากที่หลวงปู่รู้ตัวว่าหลงไปตามนิมิตต่างๆ แล้ว ท่านกลับมากำหนดกายคตาสติ จิตได้เข้าฐาน ปรากฏว่าได้เลิกหนังของตนออกหมดแล้วแหวะในกายพิจารณาทบทวนในร่างกายอย่างละเอียดแล้วพักจิต (มิใช่พิจารณากายไปโดยไม่หยุดพัก) ขณะที่พักก็รู้ว่าปัญญาได้เกิดขึ้นพอควร มีอาการไม่ตื่นเต้น ไม่หวั่นไหว จึงได้เปล่งอุทานว่า
“นี่แหละจึงจัดว่ารวมถูก เพราะไม่ใช่จิตรวมสงบแล้วก็อยู่เฉยที่สงบนั้น ต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คืออยู่ในการพิจารณาดูตัวทุกข์ คือกายนี้เป็นตัวทุกข์ และให้เห็นทุกข์อยู่ จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค ฯลฯ เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริง เห็นจริง อยู่ที่กายกับจิตเท่านั้น จึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา”
ปฏิปทาที่ท่านยึดมั่นปฏิบัติมาตลอดชีวิต คือการธุดงค์ โดยธุดงควัตรข้อสำคัญที่ท่านยึดมั่นมาตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต มี 7 ประการ คือ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล, ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์, ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์, ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์, ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม, ถือใช้ผ้าไตรจีวร 3 ผืน และ ถือละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน
ตลอดอายุขัยของของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ไม่เคยย่อหย่อนในการส่งต่อปัญญาเพื่อปัดเป่าความไม่รู้ในใจผู้คน ทั้งพระภิกษุและฆราวาส สมตามฉายา‘ภูริทัตโต’ ซึ่งหมายความหมาย “ผู้ให้ปัญญา, ผู้แจกจ่ายความฉลาด” จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ปรมาจารย์ใหญ่แห่งพระป่าสายพระกัมมัฏฐาน’ แม่ทัพธรรมผู้มีท่านมีศิษยานุศิษย์เป็นพระนักปฏิบัติชื่อดังจำนวนนับไม่ถ้วน จนเกิดเป็น ‘กองทัพธรรม’ มาช่วยกันสืบทอดพระธรรมคำสอนผ่านแนวทางที่ท่านได้ปูไว้ให้แล้ว