ครูมนตรี ตราโมท
คีตกวี 5 แผ่นดิน
ด้วยผลงานการประพันธ์เพลงไทยเดิมกว่า 200 บทเพลง ผลงานประพันธ์อื่นๆ รวมทั้งการเป็นเขียนตำราภาคทฤษฎีดนตรีไทย ดุริยางคศาสตร์ไทยคนแรก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นร่างหลักสูตรของวิชาวิทยาลัยนาฏศิลป์ในประเทศไทย นับเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า ครูมนตรี ตราโมท คือบรมครูด้านดนตรี ผู้ฝากมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าไว้ให้แผ่นดินไทยอย่างแท้จริง
ครูมนตรี ตราโมท เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อ ยิ้ม มารดาชื่อ ทองอยู่ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำจังหวัดฯ และเข้ามาอยู่ที่กรมมหรสพ จากนั้นได้เรียนต่อในโรงเรียนพรานหลวงจนจบชั้นมัธยมปลาย
ครูมนตรี เริ่มเรียนด้านวิชาการดนตรีกับครูสมบุญ นักฆ้อง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และครูสมบุญ สมสุวรรณที่จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาเข้ารับราชการที่กรมมหรสพ ซึ่งมีพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นเจ้ากรม และเป็นครูสอนการบรรเลงเครื่องดนตรีอื่นๆ นอกจากนั้นยังได้เรียนกับพระพิณบรรเลงรมย์(พิม วาทิน) หลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สารทวิลัย ) ครูทองดี ชูสัตย์ และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) โดยได้รับครอบให้เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทย และเรียนเพลงต่างๆ เพิ่มเติม รวมถึงวิธีแต่งเพลงไทยไปด้วย
นอกจากนี้ ได้ศึกษาด้านดนตรีสากล ที่โรงเรียนวิทยาสากลดนตรีสถาน กับพระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยกร) โดยเรียนวิชาภาคปฏิบัติไวโอลิน ทฤษฎีโน้ตสากล และวิชาประสานเสียงจบชั้นดอมินันต์ 7
ท่านมีอายุยืนยาวถึง 95 ปี จนได้ชื่อว่าเป็น คีตกวี 5 แผ่นดิน โดยเริ่มเข้ารับราชการเมื่ออายุ 17 ปี ในกรมมหรสพ ทำหน้าที่บรรเลงเพลงในวงตามเสด็จจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 7 และโอนไปอยู่ที่กรมปี่พาทย์และโขนหลวง
มีหน้าที่บรรเลงดนตรี เป็นครูสอนดนตรีขับร้อง และแต่งเพลงตามโอกาส ภายหลังโอนมาอยู่กรมศิลปากร เป็นครูสอนดนตรีไทยทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในโรงเรียนศิลปากร หรือวิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน แล้วจึงย้ายมาเป็นหัวหน้าแผนกดนตรีไทย เป็นศิลปินโท ศิลปินเอก และศิลปินพิเศษเป็นคนแรกของกรมศิลปากร
จากการปฏิบัติราชการด้วยความเสียสละ และไม่ย่อท้อ ทำให้ครูได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) เครื่องราชอิสริยาภารณ์มหาวชิรมงกุฎไทย และเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
ในฐานะศิลปิน ครูมนตรี ได้สร้างผลงานเพลงไทยไว้กว่า 200 เพลง ท่านสามารถประพันธ์ทำนอง บทร้อง และบรรเลงเครื่องดนตรีได้ทุกเครื่องมือ แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้ครู คือระนาดทุ้ม และขิม จนได้รับความไว้วางใจจากพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ให้บรรเลงถวายรัชกาลที่ 6 คราวประชวร คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาได้ถวายคำแนะนำว่า ควรได้รับฟังดนตรีเบาๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลาย ครูมนตรี ตราโมท จึงได้ใช้ผ้าขาวบางวางคลุมลงบนขิม ก่อนที่จะบรรเลง เพื่อให้ได้ระดับเสียงที่กำลังพอดี
นอกจากนี้ ครูมนตรียังเขียนบทความทางวิชาการไว้เป็นจำนวนมาก และในฐานะครูผู้ครอบประสิทธิ์ประสาทวิชา ครูได้เผยแผ่และผดุงรักษาขนบประเพณีในการปฏิบัติไว้อย่างเคร่งครัดตลอดเวลา 38 ปี และถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ด้วยความจริงใจ และไม่มีอคติต่อสำนักสถาบันใด
ในปี พ.ศ. 2528 ครูมนตรี ตราโมท ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต และราชบัณฑิตที่ปรึกษา รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก 3 มหาวิทยาลัยของรัฐ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และรางวัลพระเกี้ยวทองคำอีกด้วย
นอกจากความเป็น “ครู” ที่มีอยู่เต็มตัวจนลมหายใจสุดท้ายแล้ว ครูมนตรียังมีความเป็น “พ่อ” ผู้ให้การเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน ด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างตามหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ทั้งกับลูกของตนเองและลูกศิษย์ จนได้รับรางวัลพ่อตัวอย่าง รวมทั้งรางวัลผู้สูงอายุดีเด่นของจังหวัดนนทบุรี
พื้นที่การจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริงของ ครูมนตรี ตราโมท ใน ณ สัทธา อุทยานไทย ได้จำลองมาจากบ้านซึ่งท่านได้ใช้ชีวิตอยู่สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ และอยู่อาศัยในช่วงบั้นปลายชีวิต
ตลอดชีวิตการรับราชการ ครูมนตรี ไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเอง แต่อาศัยพักในบ้านพักราชการ และบ้านของขุนนางที่ให้ความอุปถัมภ์มาโดยตลอด ท่านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2505 จึงใช้เงินบำเหน็จซื้อบ้าน คือ “บ้านโสมส่องแสง” ตามชื่อเพลงไทยเดิมที่ท่านประพันธ์ ปัจจุบันได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านครูมนตรี ตราโมท เพื่อเป็นแหล่งศึกษาอัตชีวประวัติ และผลงานอันทรงคุณค่าที่ท่านได้รังสรรค์ไว้ให้แก่แผ่นดิน รวมทั้งยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดดนตรีไทยให้แก่เยาวชนที่มีใจรักในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ด้วยวิถีปฏิบัติที่งดงาม