ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
บุรุษผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและมีคุณูปการต่อประเทศไทย เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอายุน้อยที่สุด ด้วยวัยเพียง 43 ปี และนับเป็นผู้ว่าการฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 12 ปี เป็นอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนที่ 10 และผู้แต่งบทความ “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
เขาเติบโตและมีชีวิตในวัยเด็กอยู่ในย่านตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร บิดาของท่านเป็นชาวจีนอพยพ มารดาของท่านมีเชื้อสายไทยจีน เมื่ออายุได้เพียง 10 ปี บิดาก็เสียชีวิตลง มารดาจึงต้องเป็นผู้ทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลักเพียงผู้เดียว ชีวิตในวัยเด็กของเด็กชายป๋วยจึงไม่ได้เป็นชีวิตที่สุขสบายนัก ต้องดิ้นรนต่อสู้อุปสรรคในชีวิตต่างๆ มากมาย
แต่ด้วยความที่ป๋วยเป็นคนเรียนหนังสือเก่งและใฝ่เรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ท่านจึงได้รับเลือกให้เป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนต่อทันที นับเป็นการเริ่มต้นชีวิตในอาชีพครูครั้งแรกที่โรงเรียนอัสสัมชัญนี้เอง ในขณะที่เป็นครูอยู่นั้น ท่านก็ได้ใช้เวลานอกเหนือจากการทำงาน เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และสามารถสอบแข่งขัน ได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์และการคลังที่ London of Economics ของ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาในระดับเกียรตินิยม ทำให้ได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทันที
เมื่อจบการศึกษาปริญญาเอกจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2492 ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เดินทางกลับประเทศไทย บริษัทห้างร้านต่างๆ จำนวนมากทั้งในและนอกประเทศ ต้องการตัว ดร.ป๋วย ไปทำงาน โดยเสนอให้เงินเดือนสูงๆ แต่ ดร.ป๋วย ก็เลือกที่จะรับราชการ เนื่องจากมีพันธะทางใจกับตนเองว่า ตนเองนั้นนอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย ซึ่งคือเงินของชาวนาชาวเมืองไทยไปเมืองนอก
ดร.ป๋วย กลับมาเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง รับเงินเดือน ประมาณ 1,600 บาท ด้วยสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อยู่ในสภาพฟื้นตัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ดร.ป๋วย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการของปลัดกระทรวงการคลัง และกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2496 ดร.ป๋วย ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีส่วนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งมีปัญหามากในสมัยนั้น กลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น นักธุรกิจกลับมามั่นใจค่าของเงินบาท ทำให้ราคาสินค้าลดลง และเงินสำรองระหว่างประเทศก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ภายหลังได้ลาออกในปี พ.ศ. 2499 และย้ายไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลังประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศอังกฤษ
ต่อมาเมื่อไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสภาดีบุกระหว่างประเทศ ดร.ป๋วย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประเทศไทยและได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาดีบุกระหว่างประเทศ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2502 ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้กลับมายังประเทศไทย และเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะที่อายุได้เพียง 43 ปี และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมนโยบายด้านการเงิน การคลัง งบประมาณ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งการยกร่างพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ในการกำหนดค่าเสมอภาคของเงินบาทตามข้อกำหนดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
นับได้ว่า ดร.ป๋วย เป็นผู้วางรากฐานด้านเศรษฐศาสตร์ให้กับประเทศไทยอย่างแท้จริง ท่านมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการสภาพัฒน์ เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เช่น การจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นอกนี้ท่านเป็นผู้ริเริ่มให้มีการศึกษาการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเปิดดำเนินการในเวลาต่อมาด้วย
แม้ว่า ดร.ป๋วย จะมีตำแหน่งสูง แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ชอบนุ่งกางเกงเวสต์ปอยต์ไปทำงาน ไม่มีชุดดินเนอร์แจ็กเกตเป็นของตนเอง ชอบกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มกุ๊ย และเต้าฮวย
นอกจากท่านจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตทุ่มทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังรับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะดำรงตำแหน่ง ท่านได้ผลักดันให้มีการปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี เริ่มหลักสูตรปริญญาโทภาคภาษาอังกฤษ และโครงการผลิตอาจารย์ ซึ่งสร้างความก้าวหน้าให้กับการเรียนการสอนในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยเป็นอันมาก
ในปี พ.ศ. 2516 ท่านได้เขียนบทความที่รู้จักกันดีในชื่อ “จากครรถ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ความยาว 2 หน้า มีเนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการพื้นฐานในชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงเสียชีวิตที่พึงได้รับจากรัฐบาล โดยใช้คำศัพท์ที่ไม่ซับซ้อน สามารถเข้าใจได้ง่าย ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในชื่อ The Quality of Life of a South East Asian : A Chronical of Hope from
Womb to Tomb (ต่อมารู้จักกันในชื่อ From Womb to Tomb) และภายหลังถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ในเวลาต่อ
เนื้อหาของบทความโดยหลักเป็นข้อเรียกร้องรัฐสวัสดิการ มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับหลักประกันสังคมและคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่คนคนหนึ่งพึงมี รวมไปถึงเรื่องทั่วไปในสังคม ซึ่งยังคงใช้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน นับเป็นบทความที่ถูกคัดลอกและถ่ายทอดมากที่สุดบทความหนึ่งในสังคมไทย และได้ถูกนำมาเป็นแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยภายใต้นโยบายสวัสดิการรัฐได้เป็นอย่างดี
ตลอดชีวิตของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สิ่งที่ท่านอยากเห็นในประเทศไทยคือ ความเป็นธรรมในสังคม เสรีภาพของประชาชน และต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี ท่านยึดหลักว่า
ธรรมคืออำนาจ มิใช่ อำนาจคือธรรม
ผลแห่งการอุทิศตนให้แก่สังคมและบ้านเมือง ในปี พ.ศ. 2508 ท่านได้รับรางวัล “รามอน แมกไซไซ” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของเอเชีย
ในบั้นปลายชีวิตของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านได้ไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ และได้ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2542 สิริอายุได้ 84 ปี