สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หนึ่งในพระมหากษัตริย์ไทยผู้ได้รับพระราชสมญานาม “มหาราช” อันเป็นคำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยพระองค์ทรงทำสงครามปกป้องบ้านเมืองด้วยพระปรีชาสามารถและกล้าหาญหลายต่อหลายครั้ง
ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งต่อชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทยให้กว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ
สมเด็จพระนเรศวรประสูติเมื่อปี พ.ศ 2098 ที่พระราชวังจันทน์เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกในสงครามช้างเผือก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เจ้าเมืองพิษณุโลก ยอมอ่อนน้อมต่อหงสาวดี จึงทำให้เมืองพิษณุโลกต้องเป็นเมืองประเทศราชของกรุงหงสาวดี และไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระสุพรรณกัลยาและพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีในปี พ.ศ 2107 ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา
พระองค์ต้องประทับอยู่ที่อยู่หงสาวดีถึง 8 ปี แต่ก็เป็นประโยชน์ยิ่งในภายภาคหน้า เพราะทรงทราบทั้งภาษา นิสัยใจคอของขุนนางพม่า ตลอดจนล่วงรู้ความสามารถของพม่า ได้ศึกษาแบบแผนการรบของพม่าจนชำนาญ ซึ่งนับเป็นทุนสำหรับคิดอ่านเพื่อหาหนทางในการต่อสู้กับพม่า
ระหว่างนั้นสมเด็จพระสุพรรณกัลยา พระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรได้ขอเป็นองค์ประกันแทน เพื่อให้สมเด็จพระนเรศวรนิวัตเมืองพิษณุโลก ไปช่วยพระบิดารับศึกพระยาละแวกแห่งเมืองเขมร ในปี พ.ศ 2115 ขณะพระชนมายุ 17 พรรษา
ระหว่างนั้นสมเด็จพระสุพรรณกัลยา พระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรได้ขอเป็นองค์ประกันแทน เพื่อให้สมเด็จพระนเรศวรนิวัตเมืองพิษณุโลก ไปช่วยพระบิดารับศึกพระยาละแวกแห่งเมืองเขมร ในปี พ.ศ 2115 ขณะพระชนมายุ 17 พรรษา
เมื่อเสด็จกลับกรุงอโยธา สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชทานนามให้พระองค์ว่า "พระนเรศวร" และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชไปปกครองเมืองพิษณุโลก พระองค์ทรงปกครองเมืองอย่างดี และทรงเริ่มเตรียมการที่จะกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยา ทรงรวบรวมกำลังคน และฝึกฝนเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ๆ เพื่อเป็นกำลังของบ้านเมือง ในด้านการเมืองก็ทรงจัดระบบการปกครองให้เป็นแบบกรุงศรีอยุธยา พิษณุโลกจึงเจริญก้าวหน้า ด้านการทหารก็เข้มแข็ง หัวเมืองต่างๆ พากันยกย่องชื่นชมพระปรีชาสามารถของพระองค์ ส่งลูกหลานมาฝึกอาวุธวิชาทหาร เพราะในใจของผู้คนทั้งแผ่นดินต่างรู้ดีว่า พระมหาอุปราชองค์นี้จะเป็นผู้ที่เตรียมพร้อมในการกอบกู้เอกราชคืนสู่ชาติไทย
ใบเบิกทางของราชานักรบผู้ยิ่งใหญ่
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต บรรดาหัวเมืองไทยใหญ่ คือเมืองรุม เมืองคัง ต่างพากันแข็งเมือง พระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าส่ง 3 กองทัพยกไปตีคือ กองทัพพระมหาอุปราช กองทัพพระเจ้าสังฆทัศน์ และกองทัพสมเด็จพระนเรศวร
ด้วยสภาพพื้นที่เป็นเมืองเล็ก ตั้งอยู่บนภูเขา ทางขึ้นลงคับแคบ ดังนั้นจึงต้องผลัดกันเข้าตีวันละทัพ แต่เมื่อกองทัพพระมหาอุปราช และกองทัพพระเจ้าสังฆทัศน์บุกขึ้นไป ปรากฏว่าข้าศึกก็กลิ้งก้อนหอนลงมาทับไพร่พลตายเป็นจำนวนมาก
สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปสำรวจพื้นที่ และพบว่ายังมีทางขึ้นเมืองรุม-เมืองคังอีกทางหนึ่ง พระองค์จึงได้จัดไพร่พลออกเป็นสองกอง กองหนึ่งทำทีจะขึ้นทางด้านหน้าเมือง โดยซุ่มกองใหญ่ไว้อีกด้าน ซึ่งเป็นทางที่พบใหม่ โดยให้กองทัพน้อยโห่ร้องทำทีว่าจะเข้าตีทางด้านหน้า ชาวเมืองสำคัญว่าข้าศึกจะยกมาเหมือนก่อน จึงพากันมาต้านทานแต่ทางด้านหน้า เมื่อได้ทีสมเด็จพระนเรศวรจึงให้สัญญาขึ้นตีจากทางด้านที่พบใหม่ จนทำศึกรบชนะเมืองรุม-เมืองคังสำเร็จ
ชัยชนะในศึกเมืองรุม-เมืองคังครั้งนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นเครื่องแสดงออกถึงการสำเร็จการศึกษา หรือใบเบิกทางยุทธศาสตร์การรบครั้งสำคัญในชีวิตของพระองค์
ด้วยประสบการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรได้สั่งสมมาตั้งแต่เมื่ออยู่ที่เมืองพิษณุโลก ประกอบกับการเคยไปเป็นตัวประกันที่ประเทศพม่า จนเมื่อกลับมาเป็นพระมหาอุปราชที่เมืองพิษณุโลก ทรงได้ทอดพระเนตรศึกสงครามมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ มุมานะสั่งสมความรู้ จนสามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ทำให้ทรงมียุทธศาสตร์ในการรบ โดยเฉพาะการรู้ภายในภายนอกถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของตนเอง และฝ่ายตรงข้าม
ความเก่งกล้าสามารถของพระนเรศวรยิ่งมีมากขึ้นเท่าไหร่ ความหวาดระแวงของพระเจ้านันทบุเรงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น พระเจ้านันทบุเรงเริ่มไม่ไว้วางพระทัยพระนเรศวร คอยจับจ้องดูความเปลี่ยนแปลงและความสามารถของพระองค์อยู่ตลอดเวลา คิดว่าหากมีโอกาสเมื่อใดก็จะกำจัดตัดไฟแต่ต้นลม
ประกาศอิสรภาพต่อหงสาวดี
ในปี พ.ศ. 2126 สมเด็จพระนเรศวรต้องยกกทัพไปปราบกบฎอังวะเอง เนื่องจากไปช้ากว่ากำหนด ทำให้เจ้านันทบุเรงคิดว่าสมเด็จพระนเรศวรคิดแข็งเมือง จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับและหาทางกำจัดพระนเรศวรเสีย
เมื่อพระองค์ทราบข่าวจึงทรงสั่งประชุมกองทัพ นายกอง ครอบครัวชาวไทย ชาวมอญ ณ เมืองแครง และโปรดให้มหาเถรคันฉ่องอันมานั่งเป็นประธานในพิธี เมื่อพร้อมกันแล้ว สมเด็จพระนเรศวรได้หลั่งน้ำลงแผ่นดินด้วยทักษิโณทก (น้ำเต้าทองคำ) ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดีประกาศต่อเทพยาฟ้าดิน ต่อหน้าที่ประชุมว่า “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กรุงศรีอยุธยาขาดราชไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนสืบไป”
จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จนิวัตกรุงศรีอยุธยา และเตรียมไพร่พลฝึกรบเพื่อรับศึกจากพม่า เมื่อใดที่พม่ายกกองทัพมาก็มีอันต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพของสมเด็จพระนเรศวรทุกคราไป
สงครามยุทธหัตถี และอิสรภาพที่แท้จริงของอโยธยา
หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2233 ได้ 2 ปี พระมหาอุปราชาได้ทรงยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ยกทัพมา 240,000 คน หมายจะตีให้กรุงศรีอยุธยาแตกยับ
สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถเตรียมไพร่พลหนึ่ง 100,000 คน เดินทางออกจากบ้านป่าโมก ไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวง บริเวณหนองสาหร่าย แขวงสุพรรณบุรี มณฑลราชบุรี
และนี่คือราชการสงครามครั้งที่สำคัญที่สุดที่ลูกหลานชาวไทยมิอาจลืมได้ นั่นคือ สงครามยุทธหัตถี
เช้าวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” นำกำลังเข้าไปตีโต้ข้าศึก
ช้างทรงของทั้งสองพระองค์เป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้ว เคยผ่านสงครามชนช้างชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว และเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามทัพพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์ และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน
ท่ามกลางสายลมทุ่งที่พัดฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่วอาณาบริเวณ... เมื่อลมสงบและฝุ่นจางลง สมเด็จพระนเรศวรจึงได้ทรงทราบว่าช้างทรงของทั้งสองพระองค์ได้ถลำตกอยู่ในวงล้อมของทัพหลวงพม่าเสียแล้ว แต่ด้วย
พระปฏิภาณไหวพริบในกลศึก รวมถึงภาวะผู้นำและการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เด็ดเดี่ยว ทรงเห็นว่ากำลังเสียเปรียบข้าศึก จึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยความคุ้นเคยและรู้จักอุปนิสัยของพระมหาอุปราชามาก่อนแต่วัยเยาว์ ว่า “เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกัน ให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้า ที่จะชนช้างอย่างเราไม่มีอีกแล้ว”
ด้วยแรงทนงและหลงกล พระมหาอุปราชาทรงขับช้างพระที่นั่ง “พลายพัทธกอ” พุ่งออกมาทันที พลายพัทธกอโถมเข้าแทงพระยาไชยานุภาพจนเสียหลัก พระมหาอุปราชเงื้อพระแสงของ้าวฟันฉับลงทันที แต่พลาดเฉี่ยวไปถูกพระมาลาหนังจนขาดเบี่ยงไป ในขณะที่เจ้าพระยาไชยานุภาพถูกดันถอยหลังจนเซ บังเอิญพื้นดินตรงนั้นเป็นจอมปลวก จึงเป็นเสมือนแท่นรองรับ เกิดแรงสะท้อนกลับให้ช้างพระที่นั่งดีดตัวผึงขึ้นมา แล้วเสยงาเข้าใต้คางช้างพม่าเต็มแรง เป็นโอกาสทองให้สมเด็จพระนเรศวรทรงเงื้อกระแสงของ้าวจ้วงฟันสุดแรงเกิด ฟาดลงตรงไหล่ของพระมหาอุปราชาขาด ซบคอช้าง แล้วเลื่อนไถลจากคอพลายพัทธกอหล่นลงสู่เบื้องล่างดังสะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นปฐพี ดุจเสียงพระแม่ธรณีประกาศก้องว่า วันนี้อโยธยาชนะแล้ว
ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้นทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร
พระเกียรติได้เลื่องลือไปทั่วทั้งชมพูทวีป ด้วยเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า การชนช้างเป็นยอดยุทธหัตถีของนักรบ เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดทำยุทธหัตถีมีชัย จะได้รับการยกย่องเป็นพระเกียรติยศอย่างสูงสุด
ประกอบกับในยุคนั้น อาวุธของชาติตะวันตกเช่น ปืน เริ่มเข้ามามีบทบาทในการศึก การรบบนหลังช้างครั้งนี้จึงเป็นสงครามยุทธหัตถีครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ชาติไทย และชัยชนะของพระองค์ได้ทำให้ทั้งพม่ารามัญ และกองทัพใดๆ มิกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลายาวนาน