สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้กอบกู้เอกราชคืนจากพม่าหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ขณะพระชนมายุได้ 34 พรรษา ครองราชย์เพียง 15 ปี ก่อนเสด็จสวรรคต เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 48 พรรษา

พระราชประวัติ

  พระองค์ทรงเป็นชายร่างเล็ก มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน แต่พระราชประวัติและวีรกรรมของพระองค์ยิ่งใหญ่นัก แม้จะทรงมีพระราชประวัติในช่วงวัยเด็กที่คลุมเครือ แต่ก็พอสรุปใจความสำคัญในพระราชประวัติได้ว่า พระองค์มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน นามเดิมว่า “สิน” เกิดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชบิดาเป็นขุนพัฒน์นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แล้วเจ้าพระยาจักรี สมุหนายกเมตตารับเป็นบุตรบุญธรรม

  ภายหลังได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก รับยศเป็นหลวงยกกระบัตร พระองค์ทรงมีทั้งความบู้และบุ๋น ชำนาญในการรบด้วยอาวุธทุกชนิด รวมทั้งวิชามวยไทยจนยากจะหาผู้ใดมาเปรียบประลองได้ อีกทั้งยังทรงมีปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถด้านกฎหมายเป็นพิเศษ ได้ช่วยกรมการเมืองชำระความของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนือง ๆ ได้ทำความดีมีความชอบต่อแผ่นดิน จนได้รับแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าเมืองตาก”

  ในปี พ.ศ. 2308-2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่ ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรในเวลาต่อมา

ตีฝ่าวงล้อม หมายกลับมากู้ชาติ

  ครั้งดำรงตำแหน่ง พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร เมื่อทรงทราบข่าวว่ากรุงศรีอยุธยากำลังจะแตก (ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าประมาณ 3 เดือน) จึงตัดสินใจยกไพร่พลไทย-จีน ราว 500 คน......

ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากค่ายวัดพิชัย มุ่งไปทางฝั่งทะเลตะวันออกเพื่อหาที่มั่น หวังกลับมากอบกู้เอกราชคืนจากพม่าให้จงได้

  ระหว่างทาง ต้องปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พล เสบียงคลัง ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นแม่ทัพนายกที่เข้มแข็งคนหนึ่ง

  ในวันที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เผาเมืองจนวอดวาย เจ้าเมืองใหญ่ๆ พากันตั้งตัวเป็นเจ้า และควบคุมหัวเมืองใกล้เคียงไว้ในอำนาจ

  พระเจ้าตากเริ่มเตรียมการหาที่มั่นและพันธมิตร โดยที่มั่นแรกของพระองค์คือ เมืองระยอง (หลังหนีออกจากพระนครได้ 23 วัน) และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพระยาระยอง แม้จะมีข้าราชการและขุนพลบางคนคิดร้ายกับพระองค์ แต่พระองค์ก็สามารถปราบปรามผู้คิดร้ายเหล่านั้นได้โดยง่าย

  ที่เองที่...พระราชพงศาดารฉบับพระราชหัตเลขาระบุว่า พระเจ้าตากตั้งตนเป็นเจ้าและคิด “กู้กรุง” โดยประกาศว่า “เราจะตั้งตนเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย”  เหล่าไพร่พลต่างเห็นพ้อง และพร้อมใจกันเรียก “เจ้าตาก”  ตามนามเดิม

  “กองกำลัง” พระเจ้าตากได้เปลี่ยนเป็น “กองทัพ” ย่อยๆ มีทั้งกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณที่สะสมมาได้ระหว่างทาง และมี “กษัตริย์” นำทัพด้วยพระองค์เอง เมื่อข่าวแผ่กระจายออกไป ก็ปรากฎว่ามีผู้คน ทั้งนายทหาร ผู้นำท้องถิ่น นำพรรคพวกในเมืองแถบตะวันออกหลั่งไหล่เข้ามาสมัครร่วมรบมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าผู้นำท้องถิ่นทุกคนจะร่วมด้วยช่วยกันไปเสียทั้งหมด

  เป้าหมายต่อไปในการเสริมสร้างกองกำลังของพระองค์ก็คือเมืองจันทบุรี แต่แทนที่เจ้าพระยาจันทบุรีจะเห็นดีเห็นงามและยอมให้ความร่วมมือดีเหมือนพระยาระยอง พระยาจันทบุรีกลับคิดจะกำจัดสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์ไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องจัดกองกำลังเข้ายึดเมืองจันทรบูร ตรัสสั่งทหารทั้งปวงให้หุงอาหารพระราชทาน แล้วสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ปลุกขวัญกำลังใจไพร่พลให้หึกเหิมว่า “คืนนี้เราจะตีเมืองจันทบูรให้จงได้  แล้วไปหาข้าวเช้ากินเอาในเมือง ถ้ามิได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด”

  ราวตี 3 คืนนั้นพระเจ้าตากทรงช้างพระที่นั่งเข้าทลายประตูใหญ่ พร้อมทแกล้วทหารไทย-จีน บุกเข้าเมืองได้ทุกด้าน ตีเมืองจันทบูรสำเร็จ

  จากนั้นก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ และจัดตั้งกองทัพขึ้น มีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก  แล้วเคลื่อนพลทั้งทางบกและทะเลต่อไปยังเมืองตราด อันเป็นชุมนุมพ่อค้าวาณิช นายสำเภาทั้งปวง รวมทั้งชาวจีน ต่างพร้อมใจกันยอมสวามิภักดิ์เข้าร่วมกองทัพ ไพร่พลได้ช่วยกันจัดทัพต่อเรือรบได้ 100 กว่าลำ จากนั้นจึงกลับมาประทับที่เมืองจันทรบูร บัดนี้...พระเจ้าตากยึดหัวเมืองชายทะเลตะวันออกไว้ได้เกือบทั้งหมด

  หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ .2310 เมื่อไพร่พล เสบียงคลัง อาวุธยุทโธปกรณ์พร้อม เรือรบแห่งกองทัพพระเจ้าตากก็ออกจากจันทบุรี มุ่งหน้าสู่พระนคร กองทัพเรือพระเจ้าตากล่องมาตามฝั่งทะเลอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้

  ต่อจากนั้น ก็ได้เคลื่อนกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น อันเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกองกำลังรักษากรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310

  พระองค์มีชัยเหนือกองทัพพม่า ซึ่งก็เท่ากับเป็นการยึดกรุงศรีอยุธยาคืน กอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้สำเร็จ ใช้เวลาเพียง 7 เดือน หลังแหวกวงล้อมพม่าออกไปก่อนกรุงแตก

  หลังเสร็จศึกกู้ชาติ ขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น ก็เสด็จไปดูความเสียหายในพระนครศรีอยุธยา เมื่อพบว่าถูกทำลายเสียหายเกินกว่าจะบูรณะฟื้นฟูให้ยิ่งใหญ่เช่นเดิม จึงทรงตัดสินใจย้ายราชธานีไปยังเมืองธนบุรี เนื่องจากทรงเห็นว่ามีชัยภูมิที่ดี

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของราชธานีที่ 3 ของชนชาติไทย

  อย่างไรก็ตาม “พระเจ้าตากสิน” ยังทรงต้องทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่น ขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร และได้ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง

  ถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงครามเป็นส่วนใหญ่ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ได้โปรดให้มีการสร้างถนนและขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม รวมทั้งการศึกษาในด้านต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย

  เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทยเป็นล้นพ้น รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” และถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อเทิดพระเกียรติความยิ่งใหญ่ของ พระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกชาติของชาติไทย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!