องคุลีมาล

องคุลีมาล

กำเนิดอหิงสกะกุมาร

  คืนหนึ่งในสมัยพุทธกาล พรามณีมันตานีภรรยาแห่งพราหมณ์คัคคะ ปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งนครสาวัตถีได้ให้กำเนิดทารกน้อย และในคืนเดียวกันนั้น พระแสงอาวุธของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ปรากฏแสงวาบขึ้น เป็นเหตุอัศจรรย์นัก

  รุ่งเช้าพระองค์จึงทรงถามปุโรหิต ถึงเหตุประหลาดนี้ พราหมณ์คัคคะทูลตอบว่า เหตุที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนั้นเป็นลางบอกเหตุถึงการถือกำเนิดของมหาโจร ผู้ที่ต่อไปภายหน้าจะเป็นโจรที่โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ ยากที่ใครจะกำราบได้ และทารกผู้นั้นคือ ทารกของเขาเอง จึงกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลให้ประหารกุมารน้อยของเขาเสีย พระเจ้าปเสนทิโกศลกลับกล่าวตอบพราหมณ์คัคคะว่า

  “ท่านปุโรหิต กุมารน้อยนี้ หากเขาเติบโตขึ้นมาเป็นโจร เราค่อยประหารเขาไม่ดีกว่าหรือ หากเขาประพฤติเลว เราจะลงโทษเขาเอง เวลานี้ ท่านจงเลี้ยงดูเขาให้เติบโตเถิด เมื่อคืนนี้ ฝักดาบของข้าที่วางไว้บนที่นอน ลูกศรวางไว้ที่มุมห้อง และมีดที่วางไว้บนกองฝ้าย ต่างมีแสงลุกโพลงขึ้นในเวลาเดียวกัน แม้จะวางคนละที่ ต่างก็ไม่ส่งลำแสงแข่งกัน เบียดเบียนกัน ท่านจงให้ชื่อกุมารน้อยนี้ว่าอหิงสกะ อันมีความหมายว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน” เถิด”

อหิงสกะกุมารออกศึกษา

  เมื่อครบอายุที่ต้องศึกษาศิลปวิทยาการ อหิงสกะกุมารถูกส่งตัวไปร่ำเรียนวิชาที่สำนักวิชาตักศิลา กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมื่อได้ร่ำเรียนก็มีความเก่งกล้าเกินใคร จนเป็นที่อิจฉาริษยาของเหล่าศิษย์ในสำนัก จึงพากันให้ร้ายว่า อหิงสกะกุมารนั้นคิดจะประทุษร้ายอาจารย์ ทีแรกอาจารย์ไม่เชื่อ แต่เมื่อมีเหล่าศิษย์คอยเป่าหูซ้ำๆ หนักเข้า ก็กลับปักใจเชื่อ

  เมื่อเกิดความหวาดระแวง อาจารย์จึงออกอุบายกำจัดอหิงสกะกุมารเสีย อาจารย์คิดต่อไปอีกว่า ถ้าเราฆ่ามัน ใครๆ ก็จะคิดว่าอาจารย์ทิศาปาโมกข์ปลงชีวิตมาณพผู้เป็นศิษย์สำนักตนเอง ดังนี้แล้ว จักไม่มีใครมาเล่าเรียนศิลปะกับเราอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็จะเสื่อมลาภ จึงได้ออกอุบายยืมมือคนอื่นฆ่าแทน

โดยให้มาณพนั้นไปฆ่าคนให้ได้พันคน ด้วยคาดว่า เมื่ออหิงสกะกุมารปฏิบัติตามคำสั่ง เที่ยวไปฆ่าคน ก็จะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งต่อสู้ และฆ่ามาณพนั้นจนได้

  อาจารย์จึงบอกอหิงสกะกุมารว่า ยังมีคำสำหรับศิลปะวิชาขั้นสุดท้ายอยู่ แต่อหิงสกะกุมารจะต้องฆ่าคนให้ได้พันคนเพื่อประกอบพิธีบูชาครู (ครุทักษิณา) มิฉะนั้นวิชานั้นก็จะไม่มีผล

  “อหิงสกะ เจ้าเป็นศิษย์ที่มีความเก่งกล้าเกินใคร มีความพร้อมที่จะเป็นผู้สืบทอดสุดยอดของวิชาในขั้นสุดท้ายจากข้า หากแต่ในการจะร่ำเรียนวิชานี้ เจ้าจักต้องฆ่าคนให้ครบ 1,000 คนเสียก่อน เพื่อเป็นการบูชาครู เมื่อฆ่าคนได้ครบตามจำนวนแล้ว ข้าจักสอนสุดยอดวิชาในขั้นสุดท้ายให้ แล้วเจ้าจะเป็นผู้เก่งกล้าที่สุด ยากจะหาใครมาเทียบได้ทีเดียว”

กำเนิดมหาโจรองคุลิมาล

  ทีแรกอหิงสกะกุมารปฏิเสธ อ้างว่าท่านเกิดในตระกูลที่ไม่เบียดเบียนใคร แต่อาจารย์บอกว่าศิลปศาสตร์ที่เรียนไปแล้ว ถ้ามิได้บูชาครูก็จะไม่อำนวยผลที่ต้องการ ด้วยนิสัยรักวิชา อหิงสกะกุมารจึงยอมปฏิบัติตาม มุ่งหน้าไปสู่ป่าชาลิวัน ในแคว้นโกศล อาศัยอยู่ที่หุบเขาแห่งหนึ่ง เพื่อคอยดักฆ่าผู้คนเดินทางผ่านไปมาอย่างโหดเหี้ยม สนองกิเลสในใจของตนที่ต้องการที่จะเป็นหนึ่ง

  เจอใครฆ่าหมด ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย คนเฒ่า คนแก่ เด็กเล็กเด็กแดงก็ไม่เลือก จนไม่มีใครสามารถกล้าเข้าป่าเพื่อหาฟืน แม้กระทั่งตอนกลางคืนก็ยังบุกเข้ามาไปฆ่าคนถึงที่นอน

  จาก 1 ศพ เป็น 2 ศพ 3 ศพ จาก 10 เป็นร้อย เมื่อฆ่าคนจำนวนมากเข้า ด้วยเกรงว่าจำนวนจะคลาดเคลื่อน จึงตัดนิ้วจากศพเหล่านั้นเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายในการนับจำนวน โดยนำมาร้อยห้อยไว้ที่คอ ผู้คนจึงพากันให้สมญานามมหาโจรอหิงสกะว่า “องคุลีมาล”  ซึ่งหมายถึง ผู้ที่นำนิ้วมาร้อยไว้ด้วยกัน

  เรื่องราวของจอมโจรองคุลีมาลเป็นที่ร่ำลือไปจนทั่ว ชาวบ้าน ชาวเมืองต่างพากันหวาดกลัว เมื่อทราบข่าวว่าจอมโจรองคุลีมาลไปทางใด ก็พากันหลบหนี ทิ้งบ้านทิ้งเรือน จนหมู่บ้าน ตำบล ร้างผู้คน

  หมู่มหาชนพากันรวมตัวเดินทางไปตั้งค่ายพักแรมที่ลานหลวง พระนครสาวัตถี แล้วพากันไปชุมนุมกันที่ประตูพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่งเสียงร้องทุกข์กับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล เป็นคนหยาบช้า ฆ่าคนโดยไม่มีความกรุณา เข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงแขวนคอไว้ ขอพระองค์จงกำจัดมันเสียเถิด

  พราหมณ์ปุโรหิตได้ยินเรื่องดังนั้น ก็รู้ว่าโจรองคุลีมารนั้นคือเป็นบุตรของตนเป็นแน่ จึงกล่าวกับนางพราหมณีว่า“เกิดโจรชื่อองคุลิมาลขึ้นแล้ว โจรนั้นคงไม่ใช่ใครอื่น ต้องเป็นอหิงสกะกุมาร ลูกของเราเป็นแน่ บัดนี้ พระราชาจะเสด็จออกไปจับเขา เราควรจะทำอย่างไร”

  นางพราหมณีพูดว่า “ฉันจะไปพาลูกของฉันมาเอง”

  แม้ใครๆ จะต่างพากันหวาดกลัว แต่สำหรับนางแล้ว จอมโจรองคุลิมาลผู้นี้คือ ลูกชายอันเป็นที่รักของนาง ถึงจะเสียใจเพียงใด แต่นางพรามณีก็ตั้งใจว่าจะออกไปพบองคุลีมาล ณ ชายป่าชาลิวันให้จงได้ ด้วยความคิดถึง และอยากจะเป็นผู้ให้สติกับลูกไม่ให้ก่อบาปทำกรรมอีกต่อไป

  เวลานั้นโจรองคุลิมาลได้นิ้วมือมาแล้ว 999 นิ้ว ยังขาดอยู่นิ้วเดียวเท่านั้น จึงกระหายเป็นกำลัง ตั้งใจมั่นว่า เช้าวันรุ่งขึ้น ถ้าพบใครเป็นคนแรก ก็จะฆ่าทันที เพื่อให้ครบ 1,000 คน แล้วจักนำนิ้วทั้ง 1,000 นิ้วนั้นไปบูชาแด่ท่านอาจารย์ทิสาปาโมกข์ แล้วจะได้กลับบ้านไปเยี่ยมบิดามารดา คิดได้ดังนั้นแล้ว องคุลีมาลก็เร่งมุ่งได้เดินทางรอนแรมไปทางเขตเมืองนครสาวัตถี บ้านเกิดทันที

องคุลิมาลพบพระพุทธเจ้า

  เช้าตรู่วันนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกตามวัตรปฏิบัติ ทรงเห็นว่าองคุลิมาลเป็นผู้มีอุปนิสัยพอที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผลได้ และทรงพระดำริเห็นว่าถ้าพระองค์มิได้เสด็จไปโปรด องคุลิมาลก็จะกระทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดาตนเอง) จะเป็นผู้กระทำอนันตริยกรรม ไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆ ได้ในชาตินี้ แม้จะได้ฟังธรรมโดยตรงจากพระพุทธองค์

  พระองค์จึงเสด็จจาริกมุ่งตรงไปยังป่าชาลิวันเป็นระยะทาง 30 โยชน์ เพื่อสกัดองคุลิมาลไว้มิให้ทันได้ฆ่ามารดา

  ในระหว่างทางนั้น พวกคนเลี้ยงโคได้พากันวิ่งเข้าไปกราบทูลขอร้องถึง 3 ครั้ง มิให้เสด็จไปหาองคุลิมาล เพราะกลัวว่าพระองค์จะได้รับอันตราย แต่พระพุทธองค์ทรงเฉยเสีย แล้วเสด็จดำเนินต่อไปจนถึงป่าชาลิวัน

  โจรองคุลิมาลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ก็นึกประหลาดใจ เพราะเมื่อก่อนแม้พวกบุรุษมากันสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี สี่สิบคนก็ดี ก็ยังต้องรวมเป็นกลุ่มเดียวกันเดินทาง แต่ถึงอย่างนั้น บุรุษพวกนั้นยังต้องตายเพราะน้ำมือตน แต่สมณะรูปนี้มาเพียงผู้เดียว ชะรอยจะมีดีอะไรสักอย่างแล้ว จะมาลองดีกับเรา ถ้ากระไร เราพึงปลิดชีวิตสมณะนี้เถิด

             องคุลิมาลโจรถือดาบ และโล่ ผูกสอดแล่งธนู ติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปทางพระปฤษฎางค์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ แม้องคุลิมาลจะวิ่งจนสุดกำลัง ก็ไม่อาจตามทันพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เสด็จไปตามปกติได้

  เมื่อเป็นดังนั้น องคุลิมาลโจรก็ได้แต่นึกน่าอัศจรรย์ใจ เมื่อก่อนนี้ แม้ช้างกำลังวิ่ง ม้ากำลังวิ่ง เนื้อกำลังวิ่ง เราก็ยังวิ่งตามจับได้ แต่ว่านี่เราวิ่งจนสุดกำลัง ยังไม่อาจตามสมณะผู้เดินไปตามปกติได้ทัน คิดดังนี้แล้ว จึงหยุดยืนกล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า

  องคุลีมาล          :           สมณเจ้า จงหยุด

  พระพุทธเจ้า       :           เราหยุดแล้ว องคุลีมาล

  องคุลีมาล          :           สมณเจ้า จงหยุดเถิด

  พระพุทธเจ้า       :           เราหยุดแล้ว องคุลีมาล

  องคุลีมาล          :           ท่านเป็นนักบวช เหตุใดจึงกล่าววาจาปดเช่นนี้

  พระพุทธเจ้า       : เราหยุดแล้ว องคุลีมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด เราละกิเลส ละการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งปวงได้แล้ว จึงชื่อว่าหยุดแล้วในกาลทุกเมื่อ ท่านเล่าองคุลีมาลท่านยังไม่ละต่อการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ในใจเต็มไปด้วยกิเลส เราจึงหยุดแล้ว แต่ท่านเล่ายังไม่หยุด

  องคุลิมาลได้ยินพระสุรเสียงอันแจ่มใส พระดำรัสที่คมคายเช่นนั้น ก็เกิดใจอ่อน รู้สึกสำนึกผิดได้ทันที วางดาบ ทิ้งธนู สลัดแล่งโยนทิ้งลงเหวที่หุบเขา เข้าไปถวายบังคมพระบาทยุคลของพระพุทธองค์ ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา

  “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้ ข้าเกิดดวงตาเห็นพระธรรมแล้ว ข้าจะขอละบาปทั้งปวง และขอบรรพชาเป็นภิกษุ อยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ได้หรือไม่”

  พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา[1] ด้วยได้ทรงพิจารณาเห็นว่า องคุลีมาลนั้นถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย และได้เคยถวายภัณฑะ คือบริขารแปดแก่ท่านผู้มีศีลในปางก่อน ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาออกจากบังสุกุลจีวร เปล่งพระสุรเสียง ตรัสเรียกว่า

  เธอ จงมาเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด ละเว้นจากการเบียดเบียน ก่อเวรกรรมทั้งปวง แล้วเราจักปกป้องท่านเอง

  พร้อมกับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ขององคุลีมาลนั้นก็อันตรธานไป บรรพชาและอุปสมบทก็สำเร็จ เป็นผู้ปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะ คือนุ่งผ้าอันตรวาสกผืนหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์ ผืนหนึ่ง พาดผ้าสังฆาฏิไว้บนบ่าผืนหนึ่ง มีบาตรดินที่มีสีเหมือนดอกอุบลเขียวคล้องไว้ที่บ่าข้างซ้าย พร้อมด้วยบริขารอื่น คือ มีดโกน เข็ม ผ้ารัดประคดเอว และผ้ากรองน้ำ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ เหมือนพระเถระอายุร้อยพรรษา มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอาจารย์ มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌายะ ยืนถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทีเดียว จากนั้น พระบรมศาสดาก็เสด็จพาองคุลิมาลภิกษุไปสู่พระเชตุวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถี

รับกรรมที่ตามมาสนอง

  เมื่อบวชเป็นภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว พระอหิงสกะก็ต้องออกบิณฑบาตรตามวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ หากแต่เมื่อใดที่มีผู้จำได้ว่า พระอหิงสกะคือจอมโจรองคุลิมาลในอดีต ก็จะได้รับก้อนหิน ท่อนไม้ ขว้างปา ประทุษร้าย ให้ได้รับบาดเจ็บ แต่ท่านก็มิได้พร่ำบ่น หรือตอบโต้แต่อย่างใด กลับก้มหน้ารับผลแห่งกรรมที่ตัวเองได้ก่อไว้ด้วยความสงบนิ่ง

  ครั้งหนึ่งท่านได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ปรากฏว่า ก้อนดิน ท่อนไม้ ก้อนกรวด ที่บุคคลแม้ขว้างไปในทิศทางอื่นก็ปรากฏให้สิ่งเหล่านั้นมาตกต้องกายพระองคุลิมาล จนศีรษะแตก โลหิตไหล บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล จึงได้ตรัสแก่พระองคุลิมาลว่า

  “เธอจงอดกลั้นไว้เถิด เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุจะให้เธอนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดชั่วกาลนานนั้น เพียงในปัจจุบันนี้เท่านั้น”

  พระเจ้าปเสนทิโกศลได้พบภิกษุองคุลิมาล

  พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อได้ทราบความว่า จอมโจรองคุลีมาล ได้ออกบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้มุ่งหน้ามาไปพบพระผู้มีพระภาคเจ้า หมายจะขอตัวพระอหิงสกะกลับไปยังนครสาวัตถี เพื่อลงโทษให้สมแก่เหตุที่เคยเป็นมหาโจรมาก่อน

  พระเจ้าปเสนทิโกศล        :           ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าได้ทราบมาว่าจอมโจรองคุลีมาลได้มาอยู่กับท่านแล้ว ขอท่านจงส่งตัวเขามาให้ข้าเถิด

  พระผู้มีพระภาคเจ้า         :          ดูกรมหาบพิตร พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ ทรงทำให้   พระองค์ทรงขัดเคือง หรือเป็นเจ้าลิจฉวี เมืองเว
สาลี หรือว่าเป็น  พระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์เหล่าอื่น?

  พระเจ้าปเสนทิโกศล        :           มิได้พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน ออกมาจับโจรชื่อ        ว่าองคุลีมาล

  พระผู้มีพระภาคเจ้า         :           ดูกรมหาราช ถ้ามหาบพิตรทอดพระเนตรเห็นองคุลีมาล เป็นผู้ปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว ประพฤติ
พรหมจรรย์พระองค์จะทรงกระทำอย่างไรกะเขา?

  พระเจ้าปเสนทิโกศล        :           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงทำความเคารพ จะจัดถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช
บริขาร หรือก็จะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่องคุลีมาลโจรนั้น เป็นคน
ทุศีล มีบาป จะมีความสำรวมด้วยศีลถึงอย่างนั้นได้อย่างไร?

  พระพุทธเจ้าจึงบอกให้พระเจ้าปเสนทิโกศล สดับธรรมจากภิกษุของท่านรูปหนึ่งเสียก่อน ภิกษุท่านนั้นจึงได้แสดงธรรมต่อหน้าพระเจ้าปเสนทิโกศล

  “พุทธองค์ทรงสอนว่า คนเราจักเป็นไปตามความคิดในใจเรา ถ้าหากคิดดี เราก็จะทำดี หากคิดชั่วเราก็จักทำชั่ว ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์คือใจของตัวเอง”

  หลังจากที่ได้ฟังธรรมของภิกษุรูปนั้นก็เกิดความซาบซึ้ง พระพุทธองค์จึงทรงบอกกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าแท้จริงแล้ว ภิกษุรูปนี้คือ พระอหิงสกะ หรืออดีตจอมโจรองคุลีมาลนั่นเอง

  พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงไว้ชีวิตพระอหิงสกะและอนุโมทนากับการออกบวชในครั้งนี้ ทรงปวารณาที่จะถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร และเพื่อแสดงถึงความตั้งพระทัยในการกล่าวปวารณานั้นอย่างจริงจัง พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงเปลื้องผ้าสาฎกที่คาดเอววางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของพระเถระ

  แต่เนื่องจากพระองคุลิมาลถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร จึงได้ถวายพระพรพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า

  อย่าเลย มหาราช ไตรจีวรของอาตมภาพมีบริบูรณ์แล้ว”

  พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสรรเสริญพระพุทธคุณเป็นยิ่งนักที่ทรงสามารถปราบโจรร้ายได้ โดยไม่ต้องใช้อาญาและศัสตราอาวุธใดๆ จึงทรงลุกจากที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วเสด็จกลับไป 

พระอหิงสกะสำเร็จอรหันต์

  ด้วยผลแห่งความเพียรในการปฏิบัติธรรม พระอหิงสกะสำเร็จอรหันต์ในที่สุด ท่านได้ทิ้งตำนานแห่งมหาโจรผู้กลับใจเป็นคนดี จนเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นเครื่องเตือนใจให้กับชาวพุทธทุกคนว่า “ไม่มีอะไรสายเกินไปสำหรับการทำกรรมดี”

 

  “ก่อนนั้นเรามีชื่อว่าอหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียนสัตว์อยู่ วันนี้เราไม่เบียดเบียนใครแล้ว เมื่อก่อน เราเป็นโจร ชื่อว่าองคุลิมาล ถูกกิเลสครอบงำจิตใจ จนได้มาพบกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้เรียนรู้ธรรมแล้ว ท่านทั้งหลาย จงอย่าได้ประมาท จงอย่ายินดีในกาม แล้วท่านจะพบกับความสุขอันแท้จริง การที่เราอยู่ในบวรพระพุทธศาสนานี้ เป็นการดีแล้ว เป็นความคิดที่ถูกต้องแล้ว แล้วเราก็ได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดแล้ว”

[1] เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือวิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้นๆ โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยพระองค์เอง โดยการตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

 

องคุลีมาล(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!