พระอวโลติเกศวร ผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก
“พระอวโลกิเตศวร” หรือ “กวนซีอิม” หรือ “กวนอิม” เป็นพระธยานิโพธิสัตว์[1] องค์สำคัญของพระพุทธศาสนามหายานที่มีผู้เคารพศรัทธามากที่สุด พระองค์เป็นเสมือนบุคคลาธิษฐานแห่งมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เชื่อกันว่า เป็นเอกชาติปฏิพัทธะ[2] เช่นเดียวกับพระศรีอารยเมตตรัย ผู้ที่เกิดอีกเพียงชาติเดียวก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป
ความหมายของพระนาม
มีผู้ให้ความหมาย คำว่า “อวโลกิเตศวร” ไว้หลายนัย แต่โดยรูปศัพท์แล้ว คำว่า “อวโลกิเตศวร” มาจากคำสันสกฤตสองคำคือ “อวโลกิต” กับ “อิศวร” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ที่เฝ้ามองจากเบื้องบน หรือพระผู้ทัศนาดูโลก ซึ่งหมายถึงเฝ้าดูแลสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์นั่นเอง
ซิมเมอร์ นักวิชาการชาวเยอรมันอธิบายว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ทรงเป็นสมันตมุข คือ ปรากฏพระพักตร์อยู่ทุกทิศอาจแลเห็นทั้งหมด ทรงเป็นผู้ที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คืออาจจะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้ เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์
นอกจากนี้ นักปราชญ์พุทธศาสนาบางท่านยังได้เสนอความเห็นว่า คำว่า “อิศวร” นั้น เป็นเสมือนตำแหน่งที่ติดมากับพระนาม “อวโลกิตะ” จึงถือได้ว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียวที่มีตำแหน่งระบุไว้ท้ายพระนาม อันแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญยิ่งของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้
ส่วนพุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ในพระนามว่า “กวนซีอิม” หรือ “กวนอิม” ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต โดยทั่วไปมักให้อรรถาธิบายเป็นใจความว่าหมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลกที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์
คำว่า “กวนซีอิม” นี้ พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น ต่อมาตัดออกเหลือเพียง “กวนอิม” เท่านั้น เนื่องจากคำว่าซีไปพ้องกับพระนามของ จักรพรรดิถังไท่จง หรือ หลีซีหมิง
ประวัติความเป็นมาในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน
พระไตรปิฎกของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่มีปรากฏเรื่องราวหรือแม้แต่พระนามของพระอวโลกิเตศวรอยู่เลย ทว่าในส่วนของนิกายมหายานแล้ว พระอวโลกิเตศวรมีบทบาทปรากฏอยู่ในพระสูตรสำคัญๆ มากมาย และมีเรื่องราวปรากฏในพระสูตรมหายานว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกยังได้เคยตรัสสนทนาธรรมกับพระโพธิสัตว์พระองค์นี้อยู่บ่อยครั้ง
ในพุทธศาสนามหายานยกย่องพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ว่า เป็นพระผู้ได้รับธรรมจักรมาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า และเป็นผู้นำในการรักษาพระพุทธศาสนาและหมุนธรรมจักรต่อไป
การอุบัติของพระอวโลกิเตศวรนี้ สันนิษฐานว่ามีขึ้นภายหลังการเกิดนิกายมหายานขึ้นแล้ว ในราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 ภายหลังพุทธปรินิพพาน ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากวรรณคดีสันสกฤตยุคต้นๆ ของมหายานอย่าง ชาดกมาลา ทิวยาวทาน หรือลลิตวิสตระ ก็ยังไม่ปรากฏนามพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ มีปรากฏขึ้นครั้งแรกพร้อมๆ กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ในพระสูตรปรัชญาปารมิตา ซึ่งถือว่าเป็นพระสูตรมหายานรุ่นเก่าที่สุด และมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ปรากฏขึ้นมากมายในพระสูตรรุ่นต่อๆ มา
พระสูตรมหายาน กล่าวว่า พระอวโลกิเตศวรประทับอยู่ ณ สุขาวดีพุทธเกษตร คอยช่วยพระอมิตาภะโปรดสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ และเนื่องจากทรงเป็นพระธยานิโพธิสัตว์จึงมีความเป็นมาอันยาวนานสุดจะคาดคำนวณได้ ได้ทรงโปรดสัตว์ตั้งแต่สมัยของพระวิปัสสีพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 19 ในพุทธวงศ์ของพระโคตมพุทธเจ้า ตรัสรู้เมื่อ 91 มหากัปที่แล้ว จนถึงบัดนี้อันเป็นกาลสมัยของพระสมณโคดมศากยมุนีพุทธเจ้า...นับเป็นระยะเวลาเนิ่นนานสุดจะพรรณนา
ในกรุณาปุณฑริกสูตร อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวรเป็นพระธรรมกายโพธิสัตว์ สูงกว่าพระโพธิสัตว์สามัญอื่น ๆจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังการดับขันธปรินิพพานของพระอมิตาภะ เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ณ แดนสุขาวดี
บางพระสูตรกล่าวว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้นแท้จริงแล้วคือ อวตารภาคหนึ่งของพระอดีตพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบรรลุพุทธภูมิเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะแล้วในอดีตกาลอันยาวไกล ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าของเรา แต่ด้วยพระมหากรุณาที่เล็งเห็นสรรพสัตว์ยังตกอยู่ในโมหะอวิชชา ทำให้ต้องทนทุกข์อยู่ในวังวนแห่งสังสารวัฏ ยากจะหลุดพ้นไปได้ จึงทรงแบ่งภาคมาเป็นพระอวโลกิเตศวรเพื่อโปรดปวงสัตว์ให้เห็นธรรมพ้นทุกข์ด้วยพระเมตตากรุณา
ในบางแห่งก็กล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรเป็นพุทธโอรสของพระอมิตาภะที่ทรงบันดาลด้วยพุทธาภินิหาริย์ให้อุบัติขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่โลก
ส่วนทางฝ่ายทิเบตเชื่อว่า พระอวโลกิเตศวรอุบัติขึ้นมาพร้อมๆ กับพระนางตาราโพธิสัตว์ จากอนุภาพแสงสว่าง (บางแห่งว่าเป็นน้ำพระเนตรจากความกรุณาสงสารสรรพสัตว์) ที่เปล่งออกมาจากพระเนตรเบื้องขวาของพระอมิตาภะ บังเกิดเป็นพระอวโลกิเตศวรประทับบนดอกบัวที่ปรากฏขึ้นพร้อม ๆ กับมนตร์ โอม มณี ปัทเม หูม ส่วนแสงจากพระเนตรเบื้องซ้ายก่อให้เกิดพระนางตาราโพธิสัตว์
อย่างไรก็ตาม บางพระสูตรก็มีกล่าวว่า แท้จริงแล้วพระอวโลกิเตศวรก็คือภาคหนึ่งขององค์พระอมิตาภะนั่นเอง
ปฏิมากรรมพระอวโลกิเตศวร
ภาพเขียนหรือรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรยุคเริ่มแรก นิยมสร้างเป็นรูปบุรุษหนุ่ม มีอยู่หลายปางด้วยกัน แต่ลักษระร่วมที่สำคัญคือ ศิราภรณ์บนพระเศียรพระอวโลกิเตศวรจะต้องมีรูปของพระอมิตาภะในปางสมาธิ
เมื่อพระพุทธศาสนามหายานได้เข้าสู่ประเทศจีนครั้งแรก ในช่วงสมัยก่อนราชวงศ์ถัง รูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรยังสร้างเป็นรูปบุรุษตามแบบพุทธศิลป์ของอินเดีย หากในกาลต่อมา ช่างชาวจีนได้คิดสร้างเป็นรูปสตรีเพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดังเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายมากกว่าปางอื่น ๆ กระทั่งแผ่ขยายเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย รูปพระอวโลกิเตศวรก็ยังคงเป็นสตรีตามแบบอย่างประเทศจีน
ไม่ว่า พระอวโลกิเตศวรจะเป็นลักษณะเป็นหญิงหรือชาย เรื่องราวความเป็นมาจะมีความแตกต่างกันอย่างไร มีรูปเคารพกี่ปาง แต่ก็ล้วนมีความหมายที่สื่อถึงความเมตตากรุณา อันเป็นแก่นแนวคิดสำคัญของพุทธนิกายมหายาน ซึ่งเป็นเปรียบ “ยานใหญ่” ที่ขนสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ สู่พระนิพพาน นำพาสรรพสัตว์สู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสารให้หมดสิ้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
[1] พระธยานิพุทธะหรือพระฌานิพุทธะ (บางแห่งเรียกพระชินพุทธะ) เป็นพระพุทธเจ้าในคติความเชื่อของมหายาน เชื่อว่าอวตารมาจากพระอาทิพุทธะ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยอำนาจฌานของอาทิพุทธะ ไม่ได้ลงมาสร้างบารมีเหมือนพระมานุสสพุทธะ (พระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์) ดำรงในสภาวะสัมโภคกาย มีแต่พระโพธิสัตว์ที่เห็นพระองค์ได้
[2] ตามคำอธิบายใน กรุณาปุณฑริกสูตร