บอนไซ ต้นไม้ในจินตรนาการของผู้ปลูก
หลายคนอาจจะคิดว่าบอนไซเป็นชื่อต้นไม้ แต่จริงๆ แล้ว “บอนไซ” เป็นศิลปะโบราณชั้นสูงในการปลูกต้นไม้ และควบคุมให้มีขนาดเล็กตามความต้องการ
บอนไซไม่ใช่ต้นไม้แคระ แต่เป็นต้นไม้ย่อส่วนจากต้นไม้ใหญ่ โดยการใช้เทคนิคหรือวิธีการต่างๆ เช่น การมัด การตัด การเล็ม เพื่อดัดแปลงให้เหมือนเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ย่อส่วนลงมาอยู่ในกระถาง
บอนไซสามารถนำต้นอะไรมาทำก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ใบ หรือแม้กระทั่งไม้ผล แต่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นไม้ที่มีอายุยืน ควรมีใบละเอียด ใบขนาดเล็ก และที่สำคัญต้องเป็นไม้ที่กิ่งก้านยังอ่อนอยู่ อาจเริ่มปลูกโดยการเพาะเมล็ด จนมีรากแก้ว หรืออาจเป็นตอไม้จากป่า แล้วนำไปเลี้ยงในพื้นที่จำกัด ให้ดินจำกัด ให้ปุ๋ยจำกัด ให้น้ำจำกัด ทุกอย่างต้องจำกัดหมด จึงเป็นที่มาของการเรียกว่าเป็น “ไม้ย่อส่วน” หรือ “บอนไซ” นั่นเอง
กำเนิดบอนไซ
คำว่า “บอนไซ” เป็นคำทับศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่าต้นไม้ในถาด แต่มีต้นกำเนิดมาจาก การปลูกไม้ในกระถางของคนจีนโบราณเมื่อนับพันปีมาแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสวนขั้นสูงในพระราชวังของจีน
ในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีน ในช่วงราว 206 ก่อนคริสต์ศักราช ถึงราว ค.ศ. 220 มีบันทึกว่าประเทศจีนเริ่มมีการปลูกต้นไม้ในกระถางเรียกว่า Pun-sai ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ดอก เช่น เบญจมาศ ต่อมาในช่วงช่วงราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–906) เริ่มมีการจัดเป็นสวนที่ประกอบด้วยหินและต้นไม้ในภาชนะที่เรียกว่า เผินจิ่ง (Penjing)
ต่อมาได้แพร่หลายไปยังประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 800 กว่าปีที่ผ่านมา โดยชาวจีนที่ไปลี้ภัยที่ประเทศญี่ปุ่น ในยุคราชวงศ์ถัง โดยเริ่มได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและซามูไรก่อน จนกลายเป็นวัฒนธรรมบอนไซ โดยทำกันเป็นงานอดิเรก ก่อนจะแพร่หลายสู่ชาวญี่ปุ่น หากแต่รูปแบบจะแตกต่างกันเล็กน้อย คือบอนไซแบบจีนเป็นการปล่อยให้มีการเติบโตตามธรรมชาติมากกว่าบอนไซแบบญี่ปุ่น จนเมื่อเวลาล่วงผ่านไป ค่านิยมการปลูกบอนไซในญี่ปุ่นได้กลายเป็นค่านิยมที่ดูแก่และไม่ทันสมัย
ส่วนในประเทศจีน ศาสตร์ของเผินจิ่ง หรือบอนไซได้หยุดชะงักไปในช่วงยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม เผินจิ่งกลายเป็นศาสตร์ที่ไร้สาระ เป็นเรื่องของทุนนิยม ผลงานเก่าแก่ล้ำค่าจำนวนมากได้สูญหายไปในช่วงนั้นเอง
บอนไซเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง แต่เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อบอนไซเริ่มเผยแพร่จากญี่ปุ่นสู่โลกตะวันตก เริ่มจากยุโรป ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในเยอรมันและฝรั่งเศส และขยายความไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนถึงปัจจุบัน ทำให้ความสนใจในหมู่คนญี่ปุ่นค่อยๆ ฟื้นกลับมาอีกครั้ง
ปัจจุบันการปลูกบอนไซเป็นงานอดิเรกกึ่งงานศิลปะชนิดหนึ่งของชาวญี่ปุ่น ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามบ้านหรือสวนของคนญี่ปุ่น
สำหรับในประเทศไทยนั้น มีวัฒนธรรมไม้ดัดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และคาดว่าบอนไซเริ่มเป็นรู้จักกันในสมัยอยุธยา โดยชาวญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้ามา โดยจะเห็นได้จากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน มีการบรรยายถึงไม้ดัดและไม้แคระไว้หลายตอน
ปัจจุบันบอนไซได้รับความนิยมไปทั่วโลก ในเอเชียจะมีการเลี้ยงบอนไซได้รับความนิยมอยู่แค่ 3 ประเทศ คือญี่ปุ่น จีน และไทย ในประเทศทางฝั่งตะวันตกมีการจัดตั้ง สหพันธ์บอนไซโลก (World Bonsai Federation) ยกย่องให้บอนไซเป็นศิลปะแห่งสันติที่จะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่สันติภาพของโลก เพราะการเลี้ยงบอนไซนำไปสู่การกล่อมเกลาจิตใจสู่ความสงบ
มากกว่าการปลูกต้นไม้
ความหมายของบอนไซ ไม่ใช่แค่หมายถึงตัวต้นไม้เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการปลูก การจัดแต่งทรง กิ่งก้าน ลำต้นให้ดูเป็นธรรมชาติ การนั่งชื่นชม พินิจพิจารณาความงามของต้นบอนไซ การเฝ้าดูความเจริญเติบโตของกิ่งก้าน รูปทรงของใบ รากที่ชอนไช รวมไปจนถึงรูปทรงและลักษณะของกระถาง... และนี่คือจุดเด่นที่ทำให้บอนไซแตกต่างจากการปลูกไม้กระถางอื่นๆ ทั่วไป
คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า ความงดงามของบอนไซคือ การเป็นต้นไม้ในจินตนาการของผู้ปลูก คุณค่าทางจิตใจที่เกิดจากความอดทนในการเลี้ยงดู ทะนุถนอมอย่างมีศิลปะ เป็นความงดงามที่มากกว่ารูปฟอร์มที่มองเห็นด้วยตาเปล่า
หัวใจของการปลูกบอนไซคือ การตัดราก ตกแต่งกิ่ง และจำกัดการให้น้ำ กล่าวกันว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการปลูกบอนไซคือ การให้น้ำ ถ้าให้น้ำน้อยไปบอนไซก็จะเหี่ยวแห้ง ให้น้ำมากไปก็จะเน่าตาย และควรการวางบอนไซจะวางในที่ที่แสงแดดส่องถึงได้ดี หากผู้เลี้ยงทำได้ครบและพอดี ก็จะทำให้ต้นบอนไซแข็งแรง และไม่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็มีขนาดที่เล็กกะทัดรัด แต่ดูแข็งแรง และสวยงามอยู่เสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่ “บอนไซ” จะถูกยังจัดเป็นไม้มงคล เป็นตัวแทนของความอดทน และความแข็งแกร่งต่อสภาวะต่างๆ ได้ดี