ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์
รัฐบุรุษผู้ผดุงความยุติธรรม
ภาระหน้าที่สำคัญในการบริหารบ้านเมืองในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน เป็นภาระอันหนักหน่วงเหลือเกินสำหรับนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะได้มาซึ่งอำนาจอันล้นเหลือ แต่กลับเป็นอำนาจที่ไม่มีใครต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองหลังเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลา 2516 แต่ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เป็นผู้รับอาสาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของประเทศไทย และ ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 อันนำมาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนในที่สุด
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา, คณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ, ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นบุตรคนเล็กของมหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดีศรีสัตยวัตตา พิริยพาหะ (ทองดี ธรรมศักดิ์) กับคุณหญิงชื้น ธรรมศักดิ์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2450 ที่บ้านหลังวัดอรุณราชวราราม ตำบลบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญจนจบชั้นมัธยม และศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม สำเร็จเป็นเนติบัณฑิต และได้รับทุนเล่าเรียน “รพีบุญนิธิ” ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ประเทศอังกฤษและจบหลักสูตรเนติบัณฑิตอังกฤษในปี พ.ศ 2475
หลังจากที่จบการศึกษาจากอังกฤษแล้ว ท่านได้เข้ารับราชการที่กระทรวงยุติธรรม ชีวิตตุลาการก้าวหน้าตามลำดับ จนได้ตำแหน่งสูงสุดเป็นประธานศาลฎีกา
ตลอดอายุราชการ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้คนทุกวงการ ตลอดจนประชนชนทั่วไปว่าเป็นผู้แตกฉาน ปราดเปรื่องทางกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนทางราชการ และความรู้รอบตัวแทบทุกด้าน ได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นผู้พิพากษาผู้คงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ ยุติธรรม วินิจฉัยคดีความอย่างเที่ยงธรรม เป็น “เปาบุ้นจิ้น” ผู้ตงฉินของเมืองไทย
เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองในยุค 14 ตุลา 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรี ให้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของประเทศไทย
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกครั้งแรกที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีว่า
“เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น เราจะต้องพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถ แม้จะให้ไปตายก็ตาม”
ในวันนั้นท่านได้กล่าวคำปราศรัยจากหอพระสมุด ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า
“พี่น้องชาวไทย นิสิต นักศึกษาและประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลาย ด้วยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ในวันนี้ให้ข้าพเจ้าเข้ารับภาระหน้าที่อันหนัก เป็นนายกรัฐมนตรีแม้จะเป็นระยะเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี ข้าพเจ้าก็รับพระบารมีใส่เกล้า ฯ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจะทำงานโดยเต็มสติกำลังความสามารถ ในชั้นแรกและที่เป็นการด่วนอย่างยิ่งในวันนี้ก็คือข้าพเจ้าขอร้องให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นทหารตำรวจ นิสิต นักศึกษา และประชาชนขอให้รักษาความสงบเรียบร้อยโดยพลัน ทั้งนี้เพื่อประชาชนและเพื่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของเรา ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ และข้าพเจ้าคาดคิดว่าไม่ควรจะเกิน 6 เดือน นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะเชื้อเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิมีคุณธรรมความสามารถความซื่อสัตย์สุจริตประกอบเข้าเป็นคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ ขอให้ท่านข้าราชการประจำทุกท่าน ไม่ว่าในตำแหน่งใดได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบันต่อไปตามเดิมทุกประการ”
รัฐบาลภายใต้การนำของ อ.สัญญา ถูกสื่อมวลชนตั้งฉายาให้ว่า "รัฐบาลท่านพระครู" เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่ธรรมะธรรมโม เมื่อเข้ารับตำแหน่ง อ. สัญญา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมเพื่อประกาศใช้ภายใน 6 เดือน แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล และสถานการณ์ในประเทศที่ยังคงระอุอยู่ เพราะเหตุความวุ่นวายต่าง ๆ ทำให้ร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่านสภาถึง 3 ครั้ง
แต่ในที่สุดประชาธิปไตยที่ทุกคนรอคอยได้เกิดขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 10 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ 2517
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้สิทธิเสรีภาพต่อการเคลื่อนไหวและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ป้องกันคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประกาศอุดมการณ์ไว้อย่างแจ้งชัดว่ายึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันจะยังผลให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม กำหนดห้ามข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาโดยเด็ดขาด ซึ่งเท่ากับมอบอำนาจให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ และดำเนินการให้ความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมลดน้อยลง ส่งเสริมให้ชาวนา และเกษตรกรอื่นมีกรรมสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามสมควร จนได้รับการกล่าวถึงว่า “เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด” นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หลังจากท่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2518 แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีอีกครั้ง และเป็นประธานองคมนตรีในเวลาต่อมา
นอกจากงานราชการ งานวิชาการ และการเมืองแล้ว ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ยังเป็นผู้ใส่ใจในพุทธศาสนามาตั้งแต่วัยหนุ่ม ศึกษาถึงพุทธธรรมอย่างลึกฃึ้ง และได้อุทิศตนให้แก่งานพระพุทธศาสนามายาวนานกว่า 40 ปี
ท่านได้เรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปรัชญาแห่งพระพุทธศาสนาจากท่านเจ้าคุณพระเทพมุนีแห่ง วัดเบณจมบพิตร รวมทั้งได้มีโอกาสสนทนาธรรม และศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางกับท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แห่งวัดสวนโมกขพลาราม จนเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านทุ่มเททำงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้กับพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยอย่างเต็มที่ ได้ดำรงตำแหน่งนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย และเป็นประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกยาวนานถึง 15 ปี บำเพ็ญประโยชน์ และทำให้องค์การพุทธศาสนาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกเป็นปึกแผ่นมั่นคงและวัฒนาถาวร เป็นศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้และการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกอย่างสมบูรณ์ จนได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ ชั้นที่ 1 ในวาระฉลองครบรอบ 50 ปีขององค์การพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์โลก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ในฐานะบุคคลผู้คุณูปการแก่องค์การพุทธศาสนา ยังความชื่นชมยินดีจากชาวพุทธทั่วโลก
นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีมติให้ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง “ธรรมศาสตราจารย์” เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2537 เพื่อเป็นที่ประจักษ์ในเกียรติคุณและความเป็นปูชนียบุคคลสืบไป
ท่านได้ถึงอสัญกรรมโดยสงบเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ 2545 ด้วยโรคชรา รวมสิริอายุได้ 94 ปี หลังจากที่ได้ทุ่มเททำงานรับใช้ประเทศชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเวลาอันยาวนานด้วยความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์สุจริต สมถะ มักน้อย สันโดษ เรียบง่าย ไม่ชอบเจ้ายศเจ้าอย่าง ไม่ชอบห้อมล้อม ชอบเป็นคนธรรมดาที่เสียสละเพื่อผู้อื่น เรียบร้อย อ่อนโยน ที่มีคุณูปการอย่างมากมายใหญ่หลวงต่อสังคมส่วนรวม และประเทศชาติในหลาย ๆ ด้าน เป็นแบบอย่างแห่งคุณความดี เป็นแสงสว่างส่องทางให้คนรุ่นหลังได้จำเริญรอยตาม