หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ครูและนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่
ม.ล.ปิ่น มาลากุล คือ นักการศึกษา นักคิด นักเขียน นักคณิตศาสตร์ บุรุษทรงคุณค่า ผู้ใช้ชีวิตสนองคุณแผ่นดินเกิดยาวนานถึง 5 แผ่นดิน ถ้าจะเอ่ยถึงคุณูปการของท่านอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หลายวันกว่าจะเอ่ยได้หมด ที่มาของความสามารถมากมายและหลากหลายของท่าน อาจต้องย้อนไปดูปูมหลังของท่านด้วยเช่นกัน
ม.ล.ปิ่น เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ณ บ้านถนนอัษฎางค์ กรุงเทพมหานคร บิดามารดาของท่านคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม (สกุลเดิม วสันตสิงห์) วงศ์ตระกูลของท่านสืบเชื้อสายมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และตระกูลของท่านเข้ารับใช้ราชวงศ์เรื่อยมา จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าพระราชทานนามสกุล มาลากุล ณ อยุธยา
ปี พ.ศ. 2450 เมื่อหม่อมหลวงปิ่นมีอายุได้ 4 ขวบ ได้เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านกับครูแฉล้ม (แฉล้ม คุปตารักษ์) เมื่ออายุได้ 7 ขวบ ม.ล.ปิ่นได้เข้ารับการศึกษาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนสอบไล่ได้ชั้นการศึกษามัธยมที่ 3 หลังจากนั้นบิดานำเข้าถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ย้ายเข้าไปเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ท่านเป็นคนเรียนเก่ง สามารถทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้เต็มอยู่เสมอ
ต่อมา ท่านได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ในพระบรมมหาราชวังรุ่นแรก จึงไม่ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนอีก ตลอดเวลา 6 ปีที่ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท รัชกาลที่ 6 ม.ล.ปิ่น พบว่า แม้จะไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ก็ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ได้ทรงพระราชทานการศึกษาโดยวิธีอ้อม เข้าตำรา Play Way ที่ฝรั่งนับว่าเป็นวิธีของการศึกษาที่ดี
เป็นที่ทราบกันดีในพระราชสำนักว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครหรือบทความเสร็จแล้ว มักโปรดให้มหาดเล็กที่ทรงโปรดอ่านถวาย และม.ล.ปิ่น มาลากุล ก็มักได้รับโปรดเกล้าให้อ่านถวายอยู่เสมอ รวมทั้งทรงฝึกอบรม และทรงมอบหมายหน้าที่พิเศษให้ท่านจัดเก็บพระราชนิพนธ์บทละคร และการได้รับพระราชานุญาตเป็นพิเศษ ให้แก้ไขต้นฉบับลายพระหัตถ์ได้ หากทรงเผลอพระราชนิพนธ์ผิดไป นอกจากนี้ทรงตั้งให้เป็นบรรณาธิการดุสิตสมิตอีกด้วย
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับทุนของกระทรวงธรรมการ ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในแขวงวิชาภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ ทั้งบาลี สันกฤต ที่ The School of Oriental and African Studies (SOAS) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านอักษรศาสตร์ที่วิทยาลัยบเร๊สโนส แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ก่อนเดินทางกลับมารับราชการที่ประเทศไทย
อัจฉริยภาพด้านการศึกษา
หลังเดินทางจบการศึกษาในต่างประเทศ ม.ล.ปิ่น ก็กลับมารับราชการตลอดชีวิตของท่าน
ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ท่านดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ม.ล.ปิ่นได้วางนโยบายด้านการศึกษาของชาติ สร้างสรรค์งานการศึกษา ด้วยความคิดก้าวไกล และทุ่มเทเพื่อแวดวงการศึกษาไทยเสมอมา
เพื่อสนองพระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ว่า“อย่าทิ้งเรื่องนี้เป็นอันขาด” ม.ล.ปิ่นได้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงขึ้น ณ ถนนประสานมิตร รวมทั้งการริเริ่มการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนไทยในส่วนภูมิภาคได้รับการศึกษาทัดเทียมประชาชนในพระนคร อาทิ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท โรงเรียนมัธยมสหศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย วางรากฐานไว้จนกลายเป็นสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ ก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ ท้องฟ้าจำลอง วิทยุการศึกษา รวมทั้งองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือและประสานประโยชน์ทางการศึกษาในระดับนานาประเทศ เป็นผลให้การศึกษาไทยเจริญก้าวหน้าอย่างมีระบบแบบแผน และประสานประโยชน์ทางการศึกษากับนานาประเทศเป็นที่ประจักษ์ทั่วกัน
อัจริยภาพด้านวรรณศิลป์
เนื่องมาจากการได้อยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีความเป็นอัจฉริยะทางด้านอักษรศาสตร์ ผนวกกับได้รับการอบรมปลูกฝังให้รักและชื่นชมวัฒนธรรมของชาติมาแต่เยาว์วัย ด้วยเหตุนี้ ม.ล.ปิ่น มาลากุล จึงปราดเปรื่องในเชิงวรรณศิลป์ สามารถแต่งหนังสือได้แทบทุกประเภทภายในเวลาอันรวดเร็ว
ท่านมีผลงานเขียนเฉพาะที่ตีพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่รวม 207 เรื่อง ทั้งในเชิงการศึกษา วิชาการ การท่องเที่ยว บทประพันธ์และเบ็ดเตล็ด นอกจากยังมีศึกษาภาษิต บทเพลง บทนิราศ และบทละครอีกมากมาย เนื้อหาในการสื่อความของท่านในแต่ละเรื่องล้วนแต่ก่อเกิดจิตใจที่สูงส่ง ขณะเดียวกันก็รู้สึกรื่นรมย์ จรรโลงใจ และมีความสุข จนได้รับการยกย่องว่าเป็น กวีรัตนโกสินทร์
ด้วยคุณูปการมากมายต่อวงการศึกษา ม.ล.ปิ่นได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มากมายจากทั้งในและต่างประเทศ ในพุทธศักราช 2530 ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้วยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานประพันธ์รวม 207 เรื่อง และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศในวาระครบ 100 ปีเกิด ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ว่าท่านคือผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรม และการสื่อสาร
ท่านเป็นครูและนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ ที่มีผลงานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาของชาติไทยอย่างต่อเนื่องยาวนาน และยังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน การส่งเสริมทางด้านศึกษาของท่าน ควบคู่กับคุณธรรมเสมอ ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า
" อันอำนาจใดใดในโลกนี้
ไม่เห็นมีเปรียบปานการศึกษา
สร้างคนหาค่ามิได้ในโลกา
ขึ้นจากผู้ที่หาค่าไม่มีฯ "
" อันตึกงามสนามกว้างสร้างขึ้นได้
มีเงินหยิบโยนให้ก็เสร็จสรรพ์
แต่งามจิตใจกว้างนั้นต่างกัน
การอบรมเท่านั้นเป็นปัจจัยฯ "